xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป)สลด! ตายแล้ว 1 ผู้ป่วยโรคเนื้อเน่า-แบคทีเรียกินเนื้อคนเข้า รพ.น่านเพิ่ม-อยู่ไอซียูอีก 3

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


น่าน - ร้ายแรงถึงขั้นชีวิตแล้ว..โรคเนื้อ-หนังเน่า หรือโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน ล่าสุดคนน่านป่วยเพิ่ม ถูกส่งเข้า รพ.รวม 26 ราย ต้องนอนห้องไอซียู 3 ในจำนวนนี้เสียชีวิต 1 รายแล้ว




ความคืบหน้ากรณีโรคเนื้อเน่าหนังเน่าจากเชื้อแบคทีเรียระบาดที่จังหวัดน่าน โดยมีผู้ป่วยจากพื้นที่ต่างๆ เข้ามารักษาที่ รพ.น่านด้วยอาการเป็นไข้ เท้าบวมแดง มีแผลตุ่มพุพองลุกลามเป็นบริเวณกว้าง ก่อนหน้านี้ 25 ราย และมีอาการรุนแรง มีอาการติดเชื้อ เข้ารับการรักษาในห้องไอซียู 1 รายตามข่าวที่เสนอไปนั้น

ล่าสุดมีผู้ป่วยเข้ามารักษาเพิ่มอีก 1 ราย รวมเป็นยอดผู้ป่วยทั้งหมด 26 ราย มีอาการหนักที่ต้องเข้าห้องไอซียู 3 ราย และในจำนวนนี้ได้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย

วันนี้ (24 ก.ค.) นายแพทย์ พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน เปิดเผยสถานการณ์ที่มีผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียเป็นโรคเนื้อเน่าหนังเน่าที่เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลน่าน ว่า ล่าสุดมียอดผู้ป่วยจำนวน 26 ราย มีอาการทรุดหนักต้องเข้าห้องไอซียูเพื่อดูอาการอย่างใกล้ชิด 3 ราย โดยผู้ป่วยในห้องไอซียูเสียชีวิตแล้ว 1 ราย

จากการซักประวัติผู้ป่วย ส่วนใหญ่เป็นชาวนาและเกษตรกรที่ต้องทำงานสัมผัสกับดินโคลนเป็นเวลานาน เมื่อเกิดบาดแผล หรือรอยถลอกบนผิวหนังจะทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย ในรายที่รุนแรงเชื้อแบคทีเรียจะลงลึกกินทั้งชั้นผิวหนังทำให้มีภาวะเนื้อตาย และอาจจะมีการติดเชื้อเข้ากระแสเลือด จนเสียชีวิตได้

สำหรับโรคเนื้อเน่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อโรคทั้งชนิดที่ไม่ใช้ออกซิเจน เช่น คลอสติเดียม และเชื้อชนิดใช้ออกซิเจน เช่น สแตปฟิโลคอคคัส สเตรปโตคอคคัส ชนิดที่สามารถสร้างสารพิษได้ โดยอาการจะมีผิวหนังบวมแดงร้อน ถ้าเชื้อลงลึกกินทั้งชั้นผิวหนังจะพบตุ่มพุพอง และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีม่วง และถ้าเนื้อตายจะกลายเป็นสีดำ บางรายอาจจะต้องตัดขา หรืออาจจะมีการติดเชื้อเข้ากระแสเลือด ไข้สูง และทำให้เสียชีวิต


สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายคือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ได้แก่ ประวัติดื่มสุราประจำ เป็นโรคตับแข็ง โรคเบาหวาน โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง และการรับประทานยาสเตียรอยด์ ส่วนใหญ่โรคนี้จะระบาดในฤดูฝนในช่วงที่เกษตรกรลงดำนา ลุยโคลน จึงขอเตือนให้ผู้ที่ทำนา ถ้ามีแผลตามร่างกายขอให้รีบขึ้นจากโคลน รีบล้างแผลโดยให้น้ำสะอาดไหลผ่าน ซับด้วยผ้าสะอาด และปิดแผล ถ้ามียาฆ่าเชื้อโพวิโดนไอโอดีนสามารถใช้ทาแผลได้ แล้วรีบมาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อให้ตรวจรักษาต่อไป

ส่วนการรักษานั้น แพทย์จำเป็นต้องตัดเนื้อตายออกให้หมด และให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ ซึ่งถ้าเชื้อยังไม่ลุกลามเข้ากระแสเลือดผลลัพธ์ของการรักษาจะค่อนข้างดี

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายที่ไม่ได้ลงนา หรือไม่มีบาดแผลก็อาจจะติดเชื้อดังกล่าวได้ โดยการเกา หรือมีบาดแผลถลอกเล็กน้อย เชื้อสเตรปโตคอคคัส หรือสแตปฟิโลคอคคัส ที่อยู่บริเวณผิวหนังอาจจะเข้าไปในแผลแล้วเกิดการติดเชื้อ ถ้าผู้ใดมีผิวหนังบวมแดงอย่างรวดเร็ว แล้วมีตุ่มพุพองที่ผิวหนัง ขอให้รีบมาตรวจรักษาก่อนที่อาการจะลุกลามจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
กำลังโหลดความคิดเห็น