ระยอง- ไม่เคยพบไม่เคยเห็น น้ำทะเลที่ขังในแอ่งน้ำตลอดแนวชายหาดแม่รำพึง จ.ระยอง กลายเป็นสีเขียวและแดง ชาวประมงพื้นที่เผยออกทะเลมา 30 ปี เพิ่งได้เห็น คาดเกิดจากแพลงก์ตอนชนิดที่เป็นพืชเติบโตอย่างรวดเร็วจากน้ำทิ้งที่ไหลลงทะเล
วันนี้ (20 ก.ค.)ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก นายสมพงษ์ บุษชัยยา กลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็กบ้านก้นอ่าว (หาดแม่รำพึง) ต.เพ อ.เมืองระยอง ว่า พบเหตุการณ์ประหลาดที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในการทำประมงกว่า 30 ปี โดยพบแอ่งน้ำที่มีน้ำทะเลขังตลอดแนวชายหาดแม่รำพึง (โค้งก้นอ่าว) มีสีเขียวและแดงคล้ายตะไคร่อย่างเห็นได้ชัดเจน และเมื่อตรวจสอบอย่างละเอียด พบว่า จุดที่พบน้ำทะเลเปลี่ยนเป็นช่วงน้ำลงห่างจากฝั่งประมาณ 30 เมตร และเมื่อใช้นิ้วมือจิ้มดูรู้สึกได้ถึงความลื่นและมีกลิ่นเหม็น
ขณะที่ นายสุรินทร์ สินรัตน์ ประธานเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) จ.ระยอง กล่าวว่า ลักษณะน้ำทะเลที่ขังเป็นแอ่งบริเวณชายหาดแม่รำพึง บริเวณโค้งก้นอ่าว และน้ำทะเลได้เปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ายตะไคร่น้ำ และสีแดงอมชมพู สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากแพลงก์ตอนชนิดที่เป็นพืชที่มีจำนวนมาก ประกอบกับในช่วงฤดูฝน น้ำฝนได้ชะล้างสิ่งสกปรกปนเปื้อนจากแม่น้ำลำคลองที่ไหลผ่านชุมชน และแหล่งอุตสาหกรรมปลาการเกษตรลงสู่ทะเล
จึงทำให้มีสารอาหาร รวมทั้งอุณหภูมิของน้ำและความเค็มของน้ำทะเลที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนพืช จึงทำให้เกิดการกระจายตัวอย่างรวดเร็วจนมีผลกระทบต่อคุณภาพน้ำชายฝั่งทะเล ทำให้เกิดการเน่าเสียของสาหร่าย หรือแพลงก์ตอน และยังทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง
"ลักษณะเช่นนี้จะทำให้สัตว์น้ำวัยอ่อน สัตว์น้ำหน้าดินบริเวณชายฝั่งทะเลขาดออกซิเจนจนเกิดการสูญเสียได้ ส่วนสัตว์ขนาดใหญ่เมื่ออกซิเจนในน้ำลดลงก็จะหนีออกสู่น้ำลึกมากขึ้น สิ่งที่ควรพึงระวัง และหามาตรการป้องกัน คือ การจัดการน้ำทิ้งชุมชน เกษตรอุตสาหกรรม ประมงชายฝั่ง จากการชะล้างน้ำเสียจากระบบสาธารณูปโภค ห้องส้วมควรผ่านการบำบัดจากคลองสาขาต่างๆ ก่อนไหลลงสู่คลองรวม และออกสู่ปากแม่น้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เพราะหากเกิดซ้ำซากก็จะทำให้สูญเสียทรัพยากรชายฝั่ง การท่องเที่ยว และภาพลักษณ์ของจังหวัดระยองได้"
นายสุรินทร์ ยังกล่าวอีกว่า สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้น้ำทะเลในแอ่งเปลี่ยนเป็นสีเขียวและแดง อาจเกิดจากปรากฏการณ์แห่งต้นพืชที่อยู่ในทะเลลึกเกิดการตายสะสมและพัดเข้าสู่ชายฝั่ง โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นบริเวณอ่าว
"อย่างกรณีนี้ พื้นที่ก้นอ่าวของหาดแม่รำพึง เป็นพื้นที่อับน้ำหมุนเวียนน้อยจึงทำให้เกิดการสะสมของของเสียและธาตุอาหาร รวมทั้งสิ่งที่ถูกพัดพามาจากใต้ท้องทะเลจึงมารวมกันที่บริเวณโค้งก้นอ่าว" นายสุรินทร์ กล่าว