ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ภัยแล้งโคราชขยายวงกว้าง ต้องแจกจ่ายน้ำช่วยประชาชนในพื้นที่ 9 อำเภอ 17 ตำบล ผู้ว่าฯ กำชับติดตามสถานการณ์น้ำใกล้ชิดห้ามปล่อยขาดอุปโภคบริโภคเด็ดขาด ด้าน ปภ.เขต 5 ส่ง จนท. เครื่องสูบส่งระยะไกล และรถบรรทุกน้ำช่วย 4 จว.อีสานใต้สู้ภัยแล้งเต็มอัตราศึก
วันนี้ (19 ก.ค.) นายสมบัติ ไตรศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 5 (ปภ.เขต 5) นครราชสีมา เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง ประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ขายวงกว้างและทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง หลายพื้นที่ขาดแคลนน้ำ
โดยปภ.เขต 5 ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนตามที่ได้ร้องขอมา ด้วยการพัฒนาบ่อบาดาล ปี 2562 ร่วมกับสำนักงาน ปภ.จังหวัดนครราชสีมา ในการเป่าล้างบ่อบาดาลทั้งหมดจำนวน 122 บ่อ เข้าเป่าล้างพัฒนาบ่อเสร็จแล้วจำนวน 86 บ่อ ในพื้นที่ 10 อำเภอ 16 ตำบล และขอยกเลิกการเป่าล้างจำนวน 35 บ่อ อยู่ระหว่างการประสานการเป่าล้างจำนวน 1 บ่อ ที่ตำบลอุดมทรัพย์ อ.วังน้ำเขียว
นอกจากนี้ได้ส่งชุดสูบส่งระยะไกล ประกอบด้วย รถบรรทุกเครื่องสูบส่ง 1 คัน, เครื่องสูบส่งระยะไกล 1 เครื่อง รถบรรทุกขนาดใหญ่ 1 คัน และรถบรรทุกขนาดเล็ก 1 คัน ช่วยในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ได้เพิ่มรถบรรทุกและเครื่องสูบส่ง 1 คัน จ.สุรินทร์ได้ส่งรถบรรทุกน้ำเข้าไปแจกจ่ายน้ำจำนวน 6 คัน และพัฒนาบ่อบาดาลอีก 1 คัน ขณะนี้แต่ละพื้นที่ยังใช้งบประมาณของท้องถิ่นในการช่วยเหลือประชาชนจึงยังไม่มีพื้นที่ใดประกาศพิบัติภัยแล้งแต่อย่างใด
ด้านสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดนครราชสีมา รายงานสถานการณ์ภัยแล้งว่า อำเภอที่ยังมีการแจกจ่ายน้ำช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง จำนวน 9 อำเภอ 17 ตำบล 28 หมู่บ้าน ดังนี้ อ.เมืองนครราชสีมา แจกจ่ายน้ำเข้าระบบประปาหมู่บ้านวันละ 2 เที่ยว 12,000 ลิตร/วัน 2. อ.คง แจกจ่ายน้ำเข้าระบบประปาหมู่บ้าน และถังน้ำกลางในพื้นที่สูงที่แรงดันประปาไปไม่ถึง ใช้รถบรรทุกน้ำจำนวน 1 คัน/6,000 ลิตร วันละ 8 เที่ยว 54,000 ลิตร/วัน 3. อ.โนนสูง แจกจ่ายน้ำเข้าระบบประปาหมู่บ้านและถังน้ำกลาง รวม 42,000 ลิตร/วัน 4. อ.ลำทะเมนชัย แจกจ่ายน้ำเข้าถังน้ำกลางรวม 64,000 ลิตร/สัปดาห์ 6. อ.จักราช แจกจ่ายน้ำเข้าถังกลาง วันละ 7 เที่ยว 42,000 ลิตร/วัน 7. อ.ห้วยแถลง สูบกักเก็บน้ำในพื้นที่ เดือน มิ.ย. 62 และแจกจ่ายน้ำเข้าระบบประปาหมู่บ้าน รวม 74,000 ลิตร/วัน 8. อ.สูงเนิน แจกจ่ายน้ำเข้าระบบประปาหมู่บ้าน 30,000 ลิตร/วัน/บ้าน และ 9. อ.สีคิ้ว แจกจ่ายน้ำเข้าระบบประปาหมู่บ้าน 36,000 ลิตร/สัปดาห์ รวม 9 อำเภอ 17 ตำบล 28 หมู่บ้าน
ส่วนการสูบกักเก็บน้ำอุปโภค บริโภค ในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ประกอบด้วย 1) อำเภอลำทะเมนชัย ได้ดำเนินการสูบกักเก็บน้ำอุปโภค บริโภค จำนวน 2 ตำบล 7 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับประโยชน์จำนวน 50 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร เป็นนาข้าว จำนวน 800 ไร่ 2) อำเภอห้วยแถลง ได้ดำเนินการสูบกักเก็บน้ำอุปโภค บริโภค จำนวน 5 ตำบล 7 หมู่บ้าน 3) อำเภอโนนสูง ได้ดำเนินการสูบน้ำ กักเก็บน้ำอุปโภค บริโภค จำนวน 1 ตำบล 3 หมู่บ้าน 4) อำเภอด่านขุนทด ได้ดำเนินการสูบกักเก็บน้ำอุปโภค บริโภค โดยคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) เข้าสระเพื่อใช้ในการผลิตน้ำประปาบ้านกุดโดก ม.8 ตำบลบ้านเก่า เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคใช้เครื่องสูบน้ำ และงบประมาณของหมู่บ้าน (5) อำเภอพิมาย ได้ดำเนินการใช้เครื่องจักรกลขุดปิดกั้นลำสะแทด เพื่อสูบน้ำกักเก็บไว้ใช้ผลิตน้ำประปา เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในพื้นที่ที่คาดว่าจะขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค
การปฏิบัติการฝนหลวง ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครราชสีมา ได้ใช้เครื่องบินในการปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 7 ลำ ได้แก่ เครื่องบินกาซ่า จำนวน 3 ลำ เครื่องบินซูเปอร์คิงแอร์ จำนวน 2 ลำ และเครื่องบินเอยู จำนวน 2 ลำ ผลการปฏิบัติ ในเดือน ก.ค.ทำให้ฝนตกน้อยเนื่องจากสภาพอากาศไม่เหมาะสม
ส่วนมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเร่งด่วนของจังหวัดนครราชสีมานั้น ทางจังหวัดฯ ได้ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง โดยได้สั่งการให้ทุกอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด และดำเนินการประชุมร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาคในพื้นที่ การประปาเทศบาลเมือง การประปาเทศบาลตำบล การประปาชุมชน และการประปาหมู่บ้าน เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่าให้ประชาชนขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค ต้องไม่ให้เกิดกรณีขาดแคลนน้ำ และไม่ให้เกิดการร้องเรียน
พร้อมกันนี้ ให้จัดหาแหล่งน้ำสำรองสำหรับสูบกักเก็บน้ำให้เพียงพอ รวมทั้งการขออนุญาตใช้แหล่งน้ำจากหน่วยงานภายนอก เพื่อแจกจ่ายน้ำให้แก่ผู้ประสบภัยแล้งในพื้นที่ และจัดเตรียมรถบรรทุกน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการในพื้นที่