xs
xsm
sm
md
lg

ดิ้นสู้แล้งวิกฤต! ชาวชัยภูมิหันพึ่งแห่นางแมวตุ๊กตาขอฝนแทนแมวจริง เหตุผวาผิด กม.คุ้มครองสัตว์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชัยภูมิ - ชาวชัยภูมิดิ้นรนสู้ภัยแล้งวิกฤตสุดในรอบ 30 ปี ร่วมกันประกอบพิธีรำแห่นางเเมวขอฝนเทวดาหวังเป็นที่พึ่งสุดท้ายพร้อมเป็นกุศโลบายส่งสัญญาณถึงรัฐเร่งเข้ามาช่วยเหลือ แต่ยุค 4.0 จำต้องเปลี่ยนใช้ตุ๊กตาแมวแทนแมวจริง เหตุผวาคุก ผิด พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์

วันนี้ (19 ก.ค.) จากสถานการณ์ภัยแล้งของจังหวัดชัยภูมิเหตุฝนทิ้งช่วงไม่ตกมานานร่วม 2 เดือน ทำให้ประชาชนหลายพื้นที่ประสบปัญหาเดือดร้อนขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร แหล่งน้ำต่างๆ แห้งขอด นาข้าวยืนต้นแห้งตายเป็นจำนวนมากและขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่องนั้น


ล่าสุด ชาวบ้านหนองโมง ต.ห้วยบง อ.เมืองชัยภูมิ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบภัยแล้งอย่างหนัก ชาวบ้านหลายร้อยหลังคาเรือนได้ออกมารวมตัวกันประกอบพิธีแห่นางแมวขอฝนตามประเพณีความเชื่อมาแต่โบราณ หลังประสบปัญหาที่ชาวบ้านบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า แล้งหนักที่สุดในรอบกว่า 30 ปี

นายอนุภาพ นารีรักษ์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 บ้านหนองโมง เปิดเผยว่า ปีนี้ทางชาวบ้านได้มาปรึกษาว่าขณะนี้ไร่นาประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงจะยืนต้นตายหมดแล้วเพราะไม่มีฝนตกติดต่อกันเป็นระยะเวลานานหลายเดือนแล้วทั้งที่เป็นช่วงหน้าฝน แหล่งน้ำทางการเกษตรขาดแคลนอย่างหนัก จึงคิดร่วมกันว่าจะจัดพิธีแห่นางแมวเพื่อขอฝน อย่างน้อยถือว่าเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่ชาวบ้านและลดความเครียดให้คนในชุมชนได้บ้าง ซึ่งในขบวนแห่นางแมวขอฝนจะได้ร่วมสนุกสนานฟ้อนรำตามประเพณีโบราณที่สืบทอดกันมาจากปู่ย่าตายาย โดยมีขบวนร้องรำทำเพลงแห่นางแมวไปรอบหมู่บ้าน รวมถึงมีชาวบ้านข้างทางร่วมบริจาคเพื่อนำเงินไปถวายวัดอีกด้วย ซึ่งถือเป็นความร่วมมือร่วมใจของคนในหมู่บ้านที่นำเอาศาสนาวัฒนธรรมประเพณีและชีวิตความเป็นอยู่มาทำเป็นกิจกรรมให้เกิดความรักสามัคคีในยามที่เกิดวิกฤตภัยแล้งขาดน้ำ จนต้องร่วมกันประกอบพิธีแห่นางแมวขึ้นในครั้งนี้


ด้าน นายสงคราม วงศ์ศรีไข อายุ 75 ปี ปราชญ์ชาวบ้านเล่าถึงพิธีกรรมแห่นางแมวขอฝนตามประเพณีคนอีสานที่สืบทอดกันมาแต่โบราณว่า การประกอบพิธีกรรมดังกล่าวได้รับการสืบทอดมาจากปู่ย่าตายาย เพราะเชื่อว่าฝนที่ไม่ตกต้องตามฤดูกาลมีเหตุผลหลายประการ เช่น เกิดจากดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลง ประชาชนชาวบ้านหย่อนยานในศีลธรรม ทำผิดจารีตประเพณี เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงต้องประกอบพิธีขอฝนและต้องใช้แมวเป็นองค์ประกอบสำคัญ เพราะฝนตกครั้งใดแมวจะร้องทันทีชาวบ้านจึงถือเอาเคล็ดนี้เมื่อแมวร้องจะเป็นเหตุให้ฝนตกลงมา ชาวบ้านจึงร่วมมือกันสาดน้ำใส่แมวและทำให้แมวร้องมากที่สุด โดยเชื่อว่าเสียงแมวร้องจะได้ยินถึงเทวดาบนฟ้าจะได้ประทานฝนตกลงมาตามคำอ้อนวอน

ส่วนอุปกรณ์เครื่องใช้ประกอบพิธีกรรมที่สำคัญๆ คือ ขันธ์ 5 ประกอบด้วย ดอกไม้ธูปเทียน จำนวน 5 คู่ พุตะไล จุดขึ้นไปบนฟ้าเพื่อส่งสัญญาณไปถึงพญาแถน ซึ่งชาวอีสานนับถือเป็นอย่างมากส่งผลถึงความอุดมสมบูรณ์ สุ่มไก่หรือกรง และที่สำคัญคือ แมว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในปัจจุบันไม่สามารถนำแมวตัวจริง หรือแมวมีชีวิตจริงๆ มาประกอบพิธีได้ เพราะมี พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ออกมาบังคับใช้ อาจเป็นการกระทำผิดกฎหมายในข้อหาทารุณกรรมสัตว์ได้ ชาวบ้านในยุค 4.0 จึงต้องปรับเปลี่ยนให้ทันตามยุคสมัย โดยการนำตุ๊กตาแมวมาประกอบพิธีแทน และพิธีดังกล่าวจะจัดทำขึ้นในช่วงหรือปีที่มีความแห้งแล้งหนักจริงๆ เท่านั้น หากไม่มีความจำเป็นชาวบ้านจะไม่ทำเด็ดขาด เช่นเดียวกับที่เคยปฏิบัติกันมาแต่โบราณ

อีกส่วนหนึ่งถือว่าเป็นแนวทางที่พึ่งสุดท้ายของชาวบ้านที่มีความหวังว่าหลังทำพิธีแห่นางแมวผ่านไปแล้วอีกไม่นานฝนฟ้าจะตกลงมา และนับเป็นกุศโลบายในการส่งสัญญาณไปถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านโดยเร็วต่อไป







กำลังโหลดความคิดเห็น