นครพนม - ผู้ว่าฯ นครพนมนำคณะหัวหน้าส่วนราชการและประชาชน ประกอบพิธีอัญเชิญเทียนพรรษาพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ นำไปประดิษฐานเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ถวายเป็นพุทธบูชาต่อองค์พระธาตุพนม
วันที่ 17 กรกฎาคม 2562 ที่บริเวณวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส นำคณะหัวหน้าส่วนราชการและประชาชน ประกอบพิธีอัญเชิญเทียนพรรษาพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ นำไปประดิษฐานเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ถวายเป็นพุทธบูชาต่อองค์พระธาตุพนม สืบสานประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม เนื่องในวันเข้าพรรษา ประจำปี 2562 โดยมีพระเทพวรมุนี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม เจ้าคณะจังหวัดนครพนม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์
โดยวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เป็นวัดอารามหลวงชั้นเอก เป็นสถานที่ตั้งองค์พระธาตุพนมอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ภายในบรรจุพระอุรังคธาตุหรือกระดูกส่วนหน้าอกพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยและลุ่มแม่น้ำโขง มีพุทธศาสนิกชนหลากหลายเชื้อชาติให้ความเคารพศรัทธา กราบไหว้บูชามาตลอดระยะหลายพันปี และอยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
ทั้งนี้ เทียนพรรษาพระราชทานดังกล่าว วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารจะใช้จุดบูชาพระรัตนตรัย ตลอดช่วงเวลาที่พระสงฆ์อยู่จำพรรษา 3 เดือน เพื่อศึกษาพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
สำหรับวันเข้าพรรษานั้นเกิดขึ้น จากที่ในอดีตชาวบ้านได้ติติงว่า ในช่วงฤดูฝนพระสงฆ์ไปเหยียบต้นกล้า ข้าวและพืชอื่นๆ เสียหาย พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงบัญญัติพระธรรมวินัยขึ้นมา เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาที่วัดเป็นเวลา 3 เดือนจนกว่าจะผ่านพ้นฤดูฝนไป ดังนั้นพุทธศาสนิกชนจึงได้มีการหล่อเทียนขนาดใหญ่ขึ้นมาถวายเป็นพระพุทธบูชา ให้พระภิกษุสงฆ์ได้ใช้จุดเพิ่มแสงสว่าง ในการการศึกษาพระธรรมวินัยและปฏิบัติกิจวัตรต่างๆ
ตลอดระยะที่จำพรรษา โดยเชื่อว่าอานิสงส์ผลบุญจากการถวายเทียนจะช่วยให้ชีวิตสว่างไสว รุ่งเรือง พบเจอแต่สิ่งดีๆ หากชีวิตมีปัญหาก็จะพบแสงสว่าง สามารถเปลี่ยนเรื่องร้ายให้กลายเป็นดี เป็นเครื่องหมายของการส่องสว่างในชีวิตคู่ ส่วนใครที่ไร้คู่ก็จะช่วยส่องทางให้พบคู่ในเร็ววัน โดยการถวายเทียนเข้าพรรษา ได้มีการจัดเป็นพิธีสวยงามมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และในสมัยรัตนโกสินทร์การถวายเทียนเข้าพรรษาถือเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญ เป็นประเพณีราชสำนักดังที่ปรากฏในเทียนรุ่งเทียนหลวงตามพระอารามต่างๆ
แต่ด้วยในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาไปมาก จึงมีการปรับเปลี่ยนมาถวายหลอดไฟฟ้า ถ่านไฟฉาย เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานในยุคปัจจุบัน
แต่ก็ยังคงสืบทอดประเพณีการแห่เทียนพรรษาเช่นดังเดิม นอกจากนี้ยังเป็นอีกห้วงเวลาที่พุทธศาสนิกชน ถือโอกาสร่วมกันบำเพ็ญกุศล ด้วยการเข้าวัด ทำบุญตักบาตร รับฟังพระธรรมเทศนา รักษาศีล ปฏิบัติธรรมเพื่อกล่อมเกลาจิตใจอีกด้วย