มุกดาหาร- ชาวบ้านทำบุญอุทิศให้วิศวกรและคนงานก่อสร้างที่เสียชีวิตจากเครนสร้างสะพานน้ำโขงหักทับร่าง22 ก.ค.48 มีผู้เสียชีวิต 9 คน สาบสูญ 1 คน เจ็บอีก 11 มีทั้งชาวไทย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และลาว เผยเหตุการณ์14 ปีก่อนเกิดตรงวันเข้าพรรษา
รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้(17 ก.ค.)ที่บริเวณศาลปู่พญานาค จุดชมวิวโต้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) ต.บางทรายใหญ่ อ.เมือง จ.มุกดาหาร พระครูปุณณสารวิสุทธิ์ อนาลโย เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ไทร ประธานฝ่ายสงฆ์ นางอินทิราลัย คำปัน ผู้ดูแลศาลปู่พญานาค พร้อมด้วย ชาวบ้านบางทรายใหญ่ ชาวบ้านใกล้เคียง และนักท่องเที่ยวชาวไทย - ชาวลาว และญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตร่วม ในพิธีถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์จำนวน 9 รูป ถวายสังฆทาน ถวายผ้าไตร และถวายเทียนพรรษา แด่พระสงฆ์ เนื่องในวันเข้าพรรษาและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่วิศวกร และคนงานก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 ที่เสียชีวิตจากเครนสะพานหักทับร่างตั้งแต่ปี พ.ศ.2548
โดยอุบัติครั้งนั้น มีผู้เสียชีวิต 9 คน หายสาบสูญ 1 คน และบาดเจ็บอีก 11 คน ทั้งหมดเป็นชาวไทย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และลาว ซึ่งการเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นในวันเข้าพรรษาพอดี
ทั้งนี้สืบเนื่องจากการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร – สะหวันนะเขต) ได้หักช่วงกลางของตัวเครนบริเวณเสาตอม่อ ระหว่างต้นที่ 9 ถึงต้นที่ 11 หักลงทับคนงานก่อสร้าง ซึ่งมีทั้งคนไทยและคนลาวพร้อมทั้งทีมวิศวกรผู้ควบคุมการก่อสร้างซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์จำนวนหลายสิบคน ที่กำลังทำงานอยู่บนตัวเครน จึงเป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตมีผู้เสียเสียชีวิต 9 คน
ประกอบด้วย 1.นายโอโคโนกิ 2.นายยานาเซะ 3.นายวีระวงค์ 4.นายแก้วอุดร พรทิดา 5.นายปรีดา เมืองโคตร 6.นายกันยา 7.นายเวียงสมัย 8.นายสีนวน น้อยพันธุ์ 9.นายแก้ว วันวิไชย หายสาบสูญ 1 คน และบาดเจ็บอีก 11 คน
สำหรับสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร – สะหวันนะเขต ) สปป.ลาว ตั้งอยู่บ้านสงเปือย หมู่ 9 ต.บางทรายใหญ่ อ.เมือง จ.มุกดาหาร ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2547 ตัวสะพานมีความยาวทั้งสิ้น 1,600 เมตร มีความกว้าง 12 เมตร และมีช่องจราจร 2 ช่อง มูลค่าการก่อสร้างประมาณ 70 ล้านดอลล่าห์สหรัฐ
โดยแหล่งเงินทุนในการก่อสร้างเป็นเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำจากรัฐบาลญี่ปุ่นให้กับรัฐบาลลาว 4,011 ล้านเยนและให้กับรัฐบาลไทย 4,079 ล้านเยน ใช้เวลาก่อสร้างตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2546 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.2549 เป็นสะพานคอนกรีตอัดแรง