xs
xsm
sm
md
lg

พุทธศาสนิกชนตะวันออก-ชาวกัมพูชา ร่วมทำบุญในวัดต่างๆ เนื่องในวันเข้าพรรษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์ข่าวศรีราชา - พุทธศาสนิกชนในพื้นที่ภาคตะวันออก ร่วมทำบุญตักบาตรเนื่องในวันเข้าพรรษา โดยเฉพาะพื้นที่ชนบทชายแดนไทย-กัมพูชา ประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ทำบุญแน่นวัดใน อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ส่วนที่จันทบุรี และตราด ก็คึกคักไม่แพ้กัน

บรรยากาศการทำบุญตักบาตร เนื่องในวันเข้าพรรษาของพุทธศาสนิกชนในพื้นที่ภาคตะวันออก ยังคงเป็นไปอย่างคึกคักและรักษาวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามไว้ได้อย่างครบถ้วน โดยพบว่าทั้งในพื้นที่ จ.สระแก้ว จันทบุรี และตราด ยังคงมีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทย และกัมพูชา ร่วมทำบุญถวายผ้าอาบน้ำฝน และเทียนพรรษาแก่พระภิกษุสงฆ์ตามวัดต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

โดยที่ศาลาการเปรียญ วัดกะสังอัตตะนันท์ ต.ทัพไทย อ.ตาพระยา จ. สระแก้ว พุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและกัมพูชาจากหลายพื้นที่กว่า 4 หมู่บ้าน ต่างเดินทางมาทำบุญตักบาตรเนื่องในเทศกาลวันเข้าพรรษาอย่างเนืองแน่น
 
ทั้งนี้ พระอุโบสถวัดกะสังอัตตะนันท์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 (พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) ได้ทรงพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งยังดำรงฐานันดรศักดิ์ พระบรมโอรสาธิราชสยามมงกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงตัดลูกนิมิตพระอุโบสถ เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2531 จึงทำให้ในช่วงวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาของทุกปี จะมีพุทธศาสนิกชนเดินทางมาร่วมทำบุญตักบาตรเป็นจำนวนมาก

ส่วนที่วัดศาลาลำดวน พระอารามหลวง อ.เมืองสระแก้ว ก็มีพุทธศาสนิกชนร่วมทำบุญอย่างคึกคักเช่นกัน โดยมี พระครูสถิตสีลาภรณ์ รองเจ้าคณะอำเภอเมืองสระแก้ว เจ้าอาวาสวัดศาลาลำดวน เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และ พ.อ.เฉลิม เนียมช่วย รอง ผอ.รมน.จ.สระแก้ว เป็นประธานฝ่ายฆราวาส นายศักรินทร์ ทุมเสน นายอำเภอเมืองสระแก้ว พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และพุทธศาสนิกชนร่วมประกอบพิธีทางศาสนา

ชาวจันทบุรี ตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งขึ้นเนินแห่งเดียวในภาคตะวันออก

ขณะที่ชาว ต.บางกะจะ อ.เมืองจันทบุรี พุทธศาสนิกชนได้ร่วมทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งที่ไม่เหมือนใคร คือ การตักบาตรขึ้นเนินจากวัดพลับ ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ในพื้นที่ราบเชิงเขาไปยังวัดสิงห์ ที่อยู่แผ่นดินสูง โดยมีระยะทางที่พระภิกษุสงฆ์ จำนวน 150 รูป เดินบิณฑบาตกว่า 1 กิโลเมตร ถือเป็นประเพณีตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งในวันเข้าพรรษาแห่งเดียวในภาคตะวันออกที่ไม่เหมือนใคร และมีมานานหลายปี และยังพบว่าในแต่ละปีจะมีประชาชนจากทุกสารทิศเดินทางมาทำบุญตักบาตรขึ้นเนินแห่งนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
 
โดยในปีนี้ นายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และนางสุจริตตา ศรีนาม นายกเหล่ากาชาดจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้นำประชาชนร่วมทำบุญตักบาตรด้วย

 
ผวจ.ตราด นำส่วนราชการ-ประชาชนเข้าวัดในโครงการ "ผู้ว่าฯ พาเข้าวัดฎ

ด้าน นายประเสริฐ ลือชาธนานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด พร้อมด้วย นายณัฐพงษ์ สงวนจิตร น.อ.ไพฑูรย์ เพ็ญค่าย รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด และประชาชนในพื้นที่ร่วมทำบุญเนื่องในวันเข้าพรรษา ตามโครงการผู้ว่าฯ พาเข้าวัด ที่วัดวรดิตถาราม อ.เมือง จ.ตราด พร้อมถวายเครื่องอาบน้ำฝนแด่พระสงฆ์ โดยมีชาวกัมพูชาที่เข้ามาทำมาหากินในพืนที่ร่วมทำบุญเป็นจำนวนมากเช่นกัน

สำหรับวันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกๆ ปี เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้ได้ 2 เดือน ถือเป็นวันที่มีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์ครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ กล่าวคือ มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 4 ประการ คือ เป็นวันแรกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา เป็นวันแรกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” เป็นวันแรกที่พระสงฆ์สาวกเกิดขึ้นในโลก คือ ฤาษีโกณฑัญญะ ได้บวชเป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา และเป็นวันแรกที่มีพระรัตนตรัยครบบริบูรณ์ ในปี 2562 วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันอังคารที่ 16 กรกฎาคม 2562

ส่วนวันเข้าพรรษา แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกๆ ปี เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา "เข้าพรรษา" แปลว่า "พักฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่นๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือนในฤดูฝน











กำลังโหลดความคิดเห็น