ฉะเชิงเทรา - สงครามป้ายเอา-ไม่เอาโครงการอีอีซีผุดทั่วพื้นที่บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โดยกลุ่มต้านติดข้อความหยุดผังเมือง EEC ที่ขาดการมีส่วนร่วม บนสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ส่วนกลุ่มหนุนบอกกลุ่มต้านเป็นคนนอกพื้นที่
จากกรณีที่มีชาวบ้านแจ้งว่า พบเห็นกลุ่มบุคคลทั้งฝ่ายสนับสนุน และต่อต้านการเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ต่างพากันนำป้ายผ้าไวนิลเขียนข้อความทั้งสนับสนุนและต่อต้านขึงติดเรียงรายตามถนนหนทาง และราวสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ใน ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา จนส่งผลกระทบต่อทัศนียภาพโดยรวมในพื้นที่นั้น
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่า มีการนำป้ายผ้าติดเรียงรายบนถนนหนทาง และตามจุดต่างๆ ใน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา จริงตามที่ได้รับแจ้ง และยังพบชาวบ้านบางส่วนพากันรวมตัวออกมาเดินขบวนเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการดังกล่าว พร้อมนำป้ายผ้าระบุข้อความ "หยุดผังเมือง EEC ที่ขาดการมีส่วนร่วม" มาติดไว้โดยรอบ แต่สุดท้ายก็ถูกปลดออกจากพื้นที่หมดแล้ว เหลือเพียงแผ่นป้ายผ้าไวนิลของผู้ให้การสนับสนุนที่ถูกนำมาติดตั้งเรียงรายริมถนนเลียบมอเตอร์เวย์ สาย 7 (กรุงเทพฯ-พัทยา) ใกล้กับจุดพักรถเขาดินทั้งด้านฝั่งขาเข้าและขาออกแทน
โดยข้อความสนับสนุนส่วนใหญ่มีทั้ง "พวกเราคนเขาดิน มีโอกาสที่จะรับความเจริญ คนที่อื่นไม่เกี่ยวอย่ามาหาผลประโยชน์กับพื้นที่ที่ต้องการความเจริญ" และป้ายข้อความ "อย่าฟังแต่พวกที่สร้างกระแส แต่ไม่เคยพัฒนาประเทศ ออกไป! พวกถ่วงความเจริญของประเทศ" หรือ "เด็กรุ่นใหม่ต้องการความเจริญ" ต่อเนื่องด้วยป้ายข้อความ "เราอยากทำงานใกล้บ้าน"
ทั้งนี้ จ.ฉะเชิงเทรา ถือเป็น 1 ในพื้นที่เป้าหมายของโครงการอีอีซี (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) และยังจะมีการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ตามการประกาศใช้ผังเมืองฉบับใหม่ของอีอีซี เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินในการประกอบกิจการภาคอุตสาหกรรมตามแผนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 จากพื้นที่สีเขียวให้เป็นสีม่วง
นางอำไพ พ่วงรักษา อายุ 65 ปี ชาว ต.เขาดิน อ.บางปะกง บอกว่า ตนเองต้องการสนับสนุนให้มีโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อให้ลูกหลานได้มีงานทำอยู่ใกล้บ้าน เพราะเชื่อว่าก่อนที่ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมจะรับคนจากที่อื่นเข้าทำงาน ก็ต้องพิจารณารับคนที่อยู่ในพื้นที่ก่อน
เช่นเดียวกับ นางพินิจ แก้วพิทักษ์ อายุ 68 ปี ที่บอกว่า กลุ่มเคลื่อนไหวคัดค้านผังเมืองและการพัฒนาพื้นที่พิเศษส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เคยเช่าที่ดินซึ่งเตรียมที่จะพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม และบางส่วนที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวเป็นคนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน โดยเฉพาะแกนนำที่เข้ามาปลุกปั่นไม่ใช่คนในพื้นที่แน่นอน แต่คนเขาดินจริงๆ ต่างเห็นว่าการมีโครงการเข้ามาพัฒนาพื้นที่ให้เจริญจากเดิมซึ่งเป็นพื้นที่ปิดที่ขาดการพัฒนามายาวนาน น่าจะทำให้เกิดความเจริญได้มากกว่า
“การเกิดขึ้นของโครงการขนาดใหญ่จะทำให้พื้นที่เจริญขึ้น การสัญจรสะดวกขึ้น ประกอบกับที่ผ่านมา ผู้ประกอบการที่เข้ามาพัฒนาพื้นที่ได้มีการจัดสรรที่ดินให้แก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ ได้สร้างที่อยู่อาศัย จึงทำให้พวกเรามีบ้านเรือนและที่ดินเป็นของตนเอง โดยที่ไม่ต้องเช่าเขาอยู่อีกต่อไป จึงต้องการที่จะสนับสนุนให้มีนิคมอุตสาหกรรมเข้ามาอยู่ใกล้บ้าน” นางพินิจ กล่าว