xs
xsm
sm
md
lg

เผยโฉม 3 เสือแห่งป่าอุทยานฯ แก่งกระจาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เพชรบุรี - อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เปิดภาพ 3 เสือ ใน 8 ชนิดของผืนป่าแก่งกระจาน หลังกล้องดักถ่ายบันทึกได้ โดยปัจจุบันสามารถบันทึกภาพเสือได้แล้ว 7 ชนิด จาก 9 ชนิดที่มีในประเทศไทย



ภาพเสือดำ เสือไฟ เสือดาว 3 เสือใน 8 ชนิด ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ถูกนำมาเปิดเผยเพิ่มหลังจากที่ทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้นำกล้องดักถ่ายสัตว์เข้าไปติดตั้งในพื้นที่ อช.แก่งกระจาน ซึ่งปัจจุบันสามารถบันทึกภาพของเสือได้แล้วถึง 7 ชนิด จากเสือที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด 9 ชนิด ซึ่งยังคงเหลือเสือกระต่ายอีก 1 ชนิด ที่ยังไม่สามารถบันทึกภาพได้ แต่ทางอุทยานแก่งกระจานยังไม่ละความพยายามในการที่จะดักถ่ายภาพเสือชนิดที่ 8 คือ เสือกระต่าย ที่พบอยู่ในพื้นที่จากการเดินลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ แก่งกระจาน โดยมีเสือชนิดเดียวคือ แมวป่าหัวแบน ที่ไม่มีในผืนป่าแก่งกระจาน

นายมานะ เพิ่มพูน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เปิดเผยว่า สำหรับการบันทึกภาพเสือหายากได้เพิ่มเติมอีก 3 ชนิด ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ขณะนี้สามารถบันทึกภาพเสือที่มีอยู่ในผืนป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้แล้วรวม 7 ชนิด คือ เสือดาว เสือดำ เสือไฟ เสือลายเมฆ แมวดาว แมวลายหินอ่อน เสือโคร่ง โดยสามารถบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแก่งกระจานเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์ป่า ทำให้มีสัตว์ผู้ล่าเหยื่อขนาดเล็กขนาดใหญ่

โดยล่าสุด กล้องดักถ่ายสามารถบันทึกภาพได้ตอนนี้ 7 ชนิด และจากการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่พบเสือกระต่ายอีกชนิดหนึ่งแต่ยังไม่สามารถบันทึกภาพได้แต่ยังคงมีความพยายามในการติดกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าเพื่อให้ได้เสือครบ ทั้ง 8 ชนิด โดยประเทศไทยมีเสือทั้งหมด 9 ชนิด ที่ไม่มีในแก่งกระจานคือแมวป่าหัวแบน และจากการพบเสือทั้ง 7 ชนิด ทำให้มองเห็นความสำคัญของสัตว์ผู้ล่าและเหยื่อ เมื่อมีสัตว์ผู้ล่าอยู่มากก็แสดงว่าในพื้นที่นั้นต้องมีเหยื่ออยู่มากเช่นกัน แสดงว่าไม่ได้รับการรบกวนจากมนุษย์ผู้ล่าในบริเวณนั้น เป็นสภาพป่าสมบูรณ์

ทั้งนี้ คนที่อยู่ในป่าต้องได้รับการควบคุมไม่ให้มีการล่าสัตว์หรือรุกล้ำเข้าไปในถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า โดยปัจจุบัน อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ อช.แก่งกระจานอย่างใกล้ชิด รวมถึงได้รับความร่วมมือจากชุมชนในเขตป่าเป็นอย่างดี โดยเฉพาะชุมชนบ้านโป่งลึกบางกลอย ไม่มีการบุกรุกขยายพื้นที่เพิ่ม การล่าสัตว์ลดลง



กำลังโหลดความคิดเห็น