พิษณุโลก - ตามรอยตระกูล “ไกรฤกษ์” บนเส้นทางการเมืองจากพิษณุโลก เข้าสภาฯ 3 ชั่วอายุคนตั้งแต่ปี 2491 จนถึงวันนี้ จากหนึ่งในกบฏบวรเดช-นักเลงโบราณ ถึง “จุติ-พิกุลแก้ว” สองพี่น้อง ส.ส.และ ส.ว.
ตระกูล “ไกรฤกษ์” ถือเป็นหนึ่งในตระกูลการเมืองของไทยที่มีบทบาทมาอย่างยาวนานตั้งแต่ก่อนปี 2491 จนถึงสมัยนี้ และถือเป็นตระกูลแรกๆ ของสภาผู้แทนราษฎร ที่มีคนตำรงตำแหน่ง ส.ส.3 รุ่น ทั้งรุ่นปู่-พ่อ-ลูก ซึ่งล่าสุดคือ “จุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ-อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์” ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
จุติ ไกรฤกษ์ เคยกล่าวไว้ว่า “ตัวผมเองนั้นไม่ได้เป็นคนดีอะไรมากนักหรอก แต่ผมโชคดีที่พ่อผมทิ้งอะไรไว้ให้ ทำให้ไม่ต้องลำบาก ดังนั้น แค่เพียงรักษาเกียรติยศของพ่อและวงศ์ตระกูลเอาไว้ ไม่ให้เกิดความเสื่อมเสียในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องทุจริตหรือคอร์รัปชัน”
ก่อนหน้านี้ สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี “จุติ ไกรฤกษ์” เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ “ไอซีที” ( ICT ) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อไปเป็น “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม”
ห้วง 1 ปีบนเก้าอี้รัฐมนตรีไอซีทีของ “จุติ ไกรฤกษ์” เป็นยุคที่ทำให้ไทยมีระบบการสื่อสารสามารถมายืนเทียบเคียงระนาบเดียวกันกับอารยประเทศ นั่นคือ ระบบ 3 จี ซึ่งนับว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดงด้านหนึ่ง นอกเหนือจากการพัฒนาด้านอื่นๆ ทั้งยังมีการจัดทำแผนบรอดแบนด์แห่งชาติสำเร็จเป็นรากฐานที่สำคัญรองรับเทคโนโลยีการสื่อสาร 4G 5G ตราบจนทุกวันนี้ นอกจากนั้นยังได้จัดตั้งองค์กรมหาชน 2 แห่ง คือ ระบบ E-Commerce (อีคอมเมิร์ซ) และรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า E-Government
"จุติ ไกรฤกษ์" ยังเป็นหนึ่งในคนผลักดันการขยาย "ศูนย์ไอซีทีชุมชน" กระจายให้เยาวชนที่ด้อยโอกาสในชนบทได้เข้าถึงการศึกษาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศได้ทุกมิติทุกจังหวัด มากกว่า 1,000 แห่ง ขณะที่ผลงานที่ให้กับคนพิษณุโลก คือ "ศูนย์ไปรษณีย์พิษณุโลก" ถนนบายพาส หรือเลี่ยงเมือง ในพื้นที่ ต.ดอนทอง อ.เมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นระบบ “โลจิสติกส์” ที่มีความสำคัญต่อการขนส่งพัสดุภัณฑ์
“จุติ ไกรฤกษ์” ได้รับความไว้วางใจจากชาวจังหวัดพิษณุโลก ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 7 สมัย คือปี 2531, 2538, 2539, 2544, 2550, 2554, 2562 การย่างก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ “จุติ ไกรฤกษ์” จึงถูกจับตามองอีกครั้งว่าจะทำงานอย่างไรให้โดดเด่นอีก
ขณะที่พี่สาวของจุติ คือ “พิกุลแก้ว ไกรฤกษ์” ก็เคยดำรงตำแหน่ง ส.ว.มาอย่างยาวนาน ในการเลือกตั้งปี 2549, 2551, 2557 และนั่งเก้าอี้ประธาน กมธ.การต่างประเทศวุฒิสภา ระหว่างปี 2551-2557 ปัจจุบันได้รับการสรรหาเป็น ส.ว.และเป็นผู้แทนรัฐสภาไทย ในการร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 หรือการประชุมผู้นำอาเซียน ในระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมด้วย
ทั้งนี้ บทบาท-รากฐานทางการเมืองของตระกูล “ไกรฤกษ์” เริ่มจาก ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ (ปู่ของจุติ ไกรฤกษ์) จบโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า "จปร." ในปี 2465 และสอบได้เป็นอันดับ 2 ของโรงเรียนเสนาธิการทหาร ซึ่งเริ่มชีวิตราชการทหารที่จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาได้ย้ายมารับตำแหน่งเสนาธิการ มณฑลทหารบกจังหวัดพิษณุโลก (กองทัพที่ 3)
“ร.ท.จงกล” ได้ชื่อว่าเป็นคนที่ "ยอมหักแต่ไม่ยอมงอ..ไม่ทรยศนาย ไม่ขายเพื่อน" ยึดมั่นในอุดมการณ์เกิดมาเพื่อรับใช้แผ่นดินและพระราชวงศ์ เข้าร่วมกับคณะ "กู้บ้านเมือง" อีกทั้งเคยเป็นนายทหารประจำพระองค์พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกลาโหม ในวันที่ 11 ตุลาคม 2476 ที่ได้นำทหารจากหัวเมืองหลายจังหวัด รวมทั้ง ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ ที่ยกกำลังจากพิษณุโลกเข้ายึดพื้นที่ดอนเมือง แต่การเจรจากับ "คณะราษฎร์" ไม่เป็นผล เกิดการปะทะกัน และคณะกู้บ้านเมืองเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ อันเป็นที่มาของ "กบฏบวรเดช"
หลังจากพ้นคดีการเมือง และผ่านทั้งบางขวาง-ตะรุเตา-เกาะเต่า นาน 11 ปี “ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์” ได้กลับมาลงสมัคร ส.ส.พิษณุโลก พื้นที่ที่เคยรับราชการทหารมาก่อน และได้รับความไว้วางใจจากชาวพิษณุโลกอย่างท่วมท้น เพราะมีกลยุทธ์ในการหาเสียงแบบเน้นการปราศรัย เคาะประตูบ้าน จนฉายาว่า “จงกล ควายเก่า” เพราะอาสาเข้ารับใช้ชาวบ้านทุกถิ่นฐาน คลุกคลีกับประชาชนชนิดเรียกว่า “ติดดิน”
และด้วยความที่เคยเป็นนายทหารม้ามาก่อน “ร.ท.จงกล” จึงได้เปรียบผู้สมัครคนอื่นๆ ด้วยการขี่ม้าหาเสียง ซึ่งสามารถไปทุกหัวระแหงในถิ่นทุรกันดาร อำเภอวังทอง อำเภอนครไทย อำเภอชาติตระการ บางพื้นที่ผู้สมัคร ส.ส.คนอื่นๆ ไม่สามารถเข้าถึง
ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ ผู้ยึดมั่นคติประจำใจ “พึงถนอมเกียรติ” ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.พิษณุโลก 3 สมัย คือ ปี 2491, 2495, 2500 และได้รับเกียรติจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งขณะนั้นรัฐธรรมนูญได้เขียนไว้ให้ ส.ส.นั่งเก้าอี้ได้แค่รองประธานสภาฯ แต่สร้างผลงานคุณูปการแก่ประชาชน และเป็นผู้บุกเบิกเส้นทางสู่อำเภอนครไทยอีกด้วย
"ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์" เคยเขียนหนังสือไว้หลายเล่ม โดยเฉพาะผลงานด้านวรรณกรรมที่มีชื่อเสียง “ตัวตาย แต่ชื่อยัง” "ชีวิตนักการเมืองไทย" โดยใช้นามปากกา “เสาวรักษ์” และนามปากกา ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ "อยู่อย่างเสือ" "ศิลปเลือกตั้ง"
และที่สำคัญ “ร.ท.จงกล” ยังเป็นผู้ประพันธ์บทเพลง “พิษณุโลกงาม” ที่มีครูเอื้อ สุนทรสนาน แต่งทำนอง และขับร้องโดย “เพ็ญศรี พุ่มชูศรี” เลือดเนื้อเชื้อไขชาวพิษณุโลก และบันทึกแผ่นเสียงไว้เมื่อปี 2492 ปัจจุบันเพลง “พิษณุโลกงาม” ยังได้รับความนิยมจากชาวพิษณุโลก ที่ได้นำมาขับร้องกันหลายเวอร์ชัน
ส่วนรุ่นต่อมาของตระกูลไกรฤกษ์บนเส้นทางการเมืองก็คือ “โกศล ไกรฤกษ์” ผู้ที่ได้รับฉายาจากสื่อมวลชนยุคนั้นว่า “นักเลงโบราณ” เพราะมีสไตล์ดุดัน เสียงดังฟังชัด ตรงไป-ตรงมา “พูดจริง ไม่ต้องจำ” บุคคลที่ไม่คุ้นเคยรับฟังแล้วบอก “โผงผาง” นับว่าเป็นนักต่อสู้เป็นปากเป็นเสียงรับเรื่องราวร้องทุกข์แก้ปัญหาความเดือดร้อนชาวบ้าน ปฏิบัติหน้าที่สมบทบาท “ผู้แทน” ของราษฎรอย่างแท้จริง
“โกศล ไกรฤกษ์” ดำรงตำแหน่งสมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก 5 สมัย ตั้งแต่ปี 2512, 2519 2522, 2526 , 2531 และในปี 2512 ได้รับความไว้วางจากเพื่อน ส.ส.ให้นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคอิสระ มีลูกพรรค 17 คน เช่น บุญเลิศ ชินวัตร, อนันต์ ฉายแสง, สมพล เกยุราพันธุ์, บุญธรรม ชุมดวง เป็นต้น
ต่อมาได้รับความไว้วางใจจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในขณะนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคกิจสังคม ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคกิจสังคม และเคยรั้งตำแหน่งเลขาธิการพรรคประชากรไทย สมัยนายสมัคร สุนทรเวช นั่งหัวหน้าพรรคอีกด้วย เคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญทางการเมือง คือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรองนายกรัฐมนตรี
"โกศล ไกรฤกษ์" ถือเป็นผู้ปิดตำนานทุ่งสาน ที่เคยอบอวลด้วยกลิ่นคาวเลือดและน้ำตา จนสงบราบคาบลง ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวบ้านที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากข้าราชการบางคนในการจัดสรรที่ดินทำกินบริเวณ “นิคมสร้างตนเองทุ่งสาน อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก” เพราะความเอาใจใส่ปัญหาและแก้ไขอย่างจริงจัง "ถึงลูกถึงคน"โดยใช้ความเป็นธรรมนำหน้า อีกทั้งยังได้นำชาวทุ่งสานเข้ากรุงเทพฯ ยื่นหนังสือต่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อขอความเป็นธรรมในการจัดที่ดินทำกิน
แม้เรื่องราวความขัดแย้งจะยืดเยื้อยาวนานตั้งแต่สมัย พล.อ.ถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กระทั่งมาจบลงในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน-คืนความสงบร่มเย็นตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
ช่วงที่ “โกศล ไกรฤกษ์” ดำรงดำแหน่ง รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการปรับปรุงระบบการบริหารสหกรณ์ให้ทันสมัยขึ้นในยุคนั้น ขณะนั่งเก้าอี้ รมช.มหาดไทยก็ได้ผ่าตัดวางโครงสร้างรัฐวิสาหกิจ "การประปานครหลวง-กปน." จากขาดทุนจนสร้างรายได้และมีกำไร มีการขยายเขตบริการนํ้าประปาคุณภาพ โดยแต่งตั้ง ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นผู้ว่าการ กปน. และปฏิรูปการบริหารแบบใหม่เป็นรากฐานมาจนถึงทุกวันนี้
ต่อมาเมื่อดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ ก็บุกเบิกริเริ่ม “สร้างนักขาย” ทูตพาณิชย์ ของกระทรวงพาณิชย์ ส่งไปประจำยังต่างประเทศ ซึ่งเป็นรากฐานการส่งออกของประเทศตั้งแต่ยุคนั้น และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่สามารถทุบสถิติการส่งข้าวออกไปต่างประเทศสูงสุดในขณะนั้น
คนใกล้ชิดเคยเล่าว่า ครั้งหนึ่ง รมต.โกศลพกเอาความหวังเดินทางไปเจรจาขายข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ให้กับเกาหลี ในที่ประชุมรัฐมนตรีพาณิชย์ของเกาหลีอ้างว่าไม่มีความจำเป็นต้องซื้อสินค้าจากไทย โดยหยิบยกเหตุผลต่างๆ มาปฏิเสธ
อย่างไรก็ตาม ด้วยธรรมเนียมของการเจรจาที่ต้องมีการเลี้ยงรับรอง โกศล-นักเลงโบราณจากพิษณุโลก ได้กล่าวว่า "เกาหลีและไทยเป็นเพื่อนกันมานาน ประเทศไทยยากจนกว่าต้องขอความช่วยเหลือจากเกาหลีที่ร่ำรวยกว่า ซึ่งส่วนใหญ่เกาหลีจะช่วยเหลือไทยโดยการให้เงิน แต่คนไทยด้วยความยากจนก็ช่วยเพื่อนได้โดยเอาเลือดเอาเนื้อ หรือแม้แต่ชีวิตเข้าแลกโดยยกตัวอย่างจากเหตุการณ์ที่ทหารไทยเคยเดินทางไปร่วมรบสงครามในสมรภูมิเกาหลี" และนั่นทำให้รัฐมนตรีพาณิชย์เกาหลี ซึ่งในอดีตเคยเป็นผู้บัญชาการทหารบกที่นั่งฟังอยู่ถึงกับสะอึก น้ำตาคลอ ซึ่งผลจากการพูดคุยกันในคืนนั้น เกาหลีรับปากสั่งซื้อข้าวจากไทย 300,000 ตัน พร้อมกับมันสำปะหลังและข้าวโพดจำนวนหนึ่งด้วย