มหาสารคาม - ผู้ค้าลอตเตอรี่ร้องศูนย์ดำรงธรรมมหาสารคาม หลังถูกมิจฉาชีพหลอกได้รับเงินสมทบพิเศษกองฉลาก กระทั่งยอมบอกเลขบัญชีธนาคาร รหัส atm ก่อนเอะใจเช็กยอดเงินบัญชีสูญเงินหนัก บางรายเกลี้ยงบัญชีกว่า 3.8 แสนบาท รวมทุกรายกว่า 5.6 แสนบาท
วันนี้ (4 กรกฎาคม 62) ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดมหาสารคาม ชาวบ้านจากอำเภอเมืองและอำเภอแกดำเดินทางเข้าร้องทุกข์ต่อ นางจันทร์เพ็ญ ศักดิวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดมหาสารคาม กรณีชาวบ้าน 5 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มแม่ค้าที่ได้รับโควตาลอตเตอรี่ ถูกมิจฉาชีพโทรศัพท์มาหาอ้างว่าจะได้รับเงินสมทบพิเศษคืนจำนวนเงิน 5,000 บาทจากกองสลาก
ก่อนที่มิจฉาชีพจะแจ้งข้อมูล หมายเลขบัตรประชาชน และโทรศัพท์ของผู้เสียหายได้อย่างถูกต้อง จนผู้เสียหายหลงเชื่อ จากนั้นมิจฉาชีพได้ขอหมายเลขสมุดบัญชีธนาคาร หมายเลขหน้าบัตรเอทีเอ็ม และรหัสบัตรเอทีเอ็มไป กว่าที่ผู้เสียหายจะรู้ตัวก็ถูกมิจฉาชีพโอนเงินผ่านแอปฯ ธนาคารออกไปจนหมด บางรายสูญเงินกว่า 300,000 บาท รวมมูลค่าความเสียหายเพียง 5 รายมูลค่า 560,121 บาท
นางหนูจวน แสงราชา อายุ 48 ปี แม่ค้าขายลอตเตอรี่ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมามีโทรศัพท์เข้ามาที่เครื่องของตน ได้กดรับ ทราบภายหลังว่าเป็นมิจฉาชีพ โดยแจ้งว่ากองสลากจะจ่ายเงินสมทบคืนให้ผู้ที่ได้รับโควตาลอตเตอรี่จำนวนเงิน 5,000 บาท โดยมิจฉาชีพรู้หมายเลขบัตรประชาชนของตนว่าเป็นหมายเลขอะไร วันเดือนปีเกิด จากนั้นบอกว่าจะมีจดหมายไปที่บ้านให้เตรียมรับ พร้อมขอหมายเลขบัญชีธนาคาร หมายเลขหน้าบัตรเอทีเอ็ม รหัสบัตรเอทีเอ็ม ก่อนที่จะให้แจ้งรหัส OTP 6 ตัวที่ส่งเข้ามาในโทรศัพท์ให้ทราบ
ตนหลงเชื่อ เนื่องจากมิจฉาชีพรู้ข้อมูลทั้งเลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ จึงบอกข้อมูลมิจฉาชีพไปทั้งหมด กว่าจะรู้ว่าถูกหลอกคือช่วงกลางดึกคืนวันที่ 13 มิถุนายน มีเพื่อนโทรศัพท์มาบอกว่าให้ระวังถูกหลอกต้มตุ๋นกับพวกกลุ่มคนขายลอตเตอรี่ พอได้ยินแบบนั้นก็ตกใจ นอนไม่หลับ ทำอะไรไม่ถูก ต่อมาวันที่ 14 มิถุนายนจึงรีบเดินทางไปธนาคาร ก็ได้ทราบว่าเงินของตนทั้งหมดถูกโอนผ่านแอปฯ ธนาคารออกไปจนหมด เหลือเงินติดบัญชีอยู่เพียง 52 สตางค์ รวมเงินของตนเองที่มิจฉาชีพได้ไปจำนวนเงิน 379,853 บาท
ขณะเดียวกัน นางจันสี พลเรือง อายุ 50 ปี แม่ค้าขายลอตเตอรี่อีกราย กล่าวว่า ตนถูกมิจฉาชีพแฮกเงินไปถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกก็เหมือนเพื่อนๆ ที่ถูกหลอก คือมีโทรศัพท์เข้ามาอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารสาขาใหญ่จากส่วนกลาง โดยมิจฉาชีพรู้หมายเลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขบัญชีธนาคาร ด้วยความที่คิดว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากธนาคารจริงจึงได้ให้หมายเลขหน้าบัตรเอทีเอ็ม และรหัสเอทีเอ็มไป พอทราบว่าถูกหลอก จึงไปเช็กยอดเงินกับธนาคาร ปรากฏว่าเงินหายไปจากบัญชี 1,100 บาท เหลือติดบัญชีไว้ 90 บาท
เจ้าหน้าที่ธนาคารจึงได้ออกบัตรเอทีเอ็มใหม่ ทำทุกอย่างให้เรียบร้อย และบอกว่าสามารถใช้เลขบัญชีเดิมได้ แต่ก็มาสูญเงินรอบ 2 อีกเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน จำนวนเงิน 36,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่นำไปเข้าธนาคารไว้เพื่อเตรียมซื้อลอตเตอรี่มาจำหน่าย รวมตนเสียเงินไป 37,100 บาท เหลือเงินติดบัญชีเพียง 73.77 บาท วันนี้เดินทางมาร้องทุกข์ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดมหาสารคาม มีผู้เสียหายทั้งหมด 5 ราย แต่คาดว่าจะมีผู้เสียหายมากกว่านี้ รวมเฉพาะ 5 รายสูญเงินทั้งสิ้น 590,1201 บาท
ทั้งนี้ สิ่งที่อยากให้ศูนย์ดำรงธรรมช่วยเหลือ คืออยากทราบว่าข้อมูลที่มิจฉาชีพได้ไปทั้งหมายเลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ หมายเลขสมุดบัญชีธนาคาร มิจฉาชีพได้ไปได้อย่างไร ชาวบ้านจะได้เงินคืนหรือไม่ อยากให้ติดตามจับคนร้ายมาดำเนินคดีให้ได้ เพราะบางรายมีหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชี และที่สำคัญคือชาวบ้านเกรงว่าจะเสียโควตาการเป็นผู้ค้าสลากฯ เนื่องจากไม่กล้านำเงินเข้าบัญชี
ด้านนางจันทร์เพ็ญ ศักดิวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า เบื้องต้นได้ชี้แจงให้ผู้ร้องได้รับทราบถึงหลักการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่สำนักงานจังหวัดมหาสารคาม ในการขึ้นทะเบียนผู้ค้าสลากฯ โดยจะใช้เอกสารแค่เพียงทะเบียนบ้านและบัตรประชาชน ซึ่งเจ้าหน้าที่จะไม่ทราบถึงหมายเลขบัญชีธนาคารของผู้ร้อง อีกทั้งผู้ร้องเป็นผู้ให้หมายเลขหน้าบัตรเอทีเอ็ม 16 หลัก และรหัสแก่มิจฉาชีพ ซึ่งทำให้มิจฉาชีพสามารถแฮกข้อมูลผ่านทางแอปฯ มือถือได้
ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดมหาสารคามจะรับเรื่องร้องทุกข์จากผู้เสียหายทั้งหมด จากนั้นจะดำเนินการส่งเรื่องให้ตำรวจภูธรจังหวัดติดตามคดีให้ เนื่องจากมีชื่อของผู้รับเงินชัดเจน แต่จะเป็นมิจฉาชีพตัวจริงหรือไม่ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ทำงานก่อน ในส่วนของธนาคารจะทำหนังสือถึงธนาคารว่าเงินออกจากบัญชีของผู้ร้องไปในลักษณะใด และเรื่องของโควตาสลากฯ ที่เป็นกังวล กำลังให้เจ้าหน้าที่ประสานไปยังกองสลากว่าเกิดกรณีแบบนี้ขึ้น จะต้องมีขั้นตอนดำเนินการชี้แจงแบบใด ไม่ให้ผู้ร้องเสียโควตาสลากฯ ไป