xs
xsm
sm
md
lg

น่าเศร้า! ชุมชนกะเหรี่ยงวังชิ้น-เมืองแพร่ ต้องระดมเงินจ้างครู-ซ่อมอาคารกันเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แพร่ - นโยบายเรียนฟรีมีที่ไหน..พี่น้องชาวกะเหรี่ยงวังชิ้น-เมืองแพร่ รวมตัวค้านนโยบายยุบโรงเรียนเล็ก ดัน สพป.ไฟเขียวเปิด “ร.ร.บ้านค้างใจ” ได้อีกรอบ แต่ขอครูไม่ได้ ต้องลงขันจ้างครูสอนลูกหลานตัวเอง

ขณะนี้บรรดาผู้ปกครอง ตลอดจนผู้มีจิตศรัทธา บริษัทห้างร้านเอกชน ต่างพยายามช่วยกันนำขนม-วัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอน รวมทั้งร่วมบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนให้โรงเรียนบ้านค้างใจ ต.แม่เกิ๋ง อ.วังชิ้น จ.แพร่ ให้สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ต่อไป หลังจากโรงเรียนบ้านค้างใจ อยู่ในบัญชีถูกยุบรวมกับโรงเรียนบ้านสลก ที่อยู่ห่างจากบ้านค้างใจ ไกลกว่า 5 กม.ตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ-รัฐบาล และถูกปรับลดอัตรากำลังผู้บริหาร-ครูผู้สอนไปแล้ว

น.ส.ณัฐชานันท์ อินมี ครู คศ.1 ข้าราชการครูคนเดียวในโรงเรียนนี้ กล่าวว่า ต้องเห็นใจชุมชนที่มีบุตรหลานต้องไปโรงเรียนตามกฎหมาย แต่มาตรการยุบรวมทำให้เกิดปัญหาการไปรับ-ส่งลูกหลาน เด็กนักเรียน เพราะต้องเดินทางไปเรียนในโรงเรียนที่ห่างไกลออกไป โดยเฉพาะหมู่บ้านแห่งนี้เป็นชาวกะเหรี่ยงชนเผ่าพื้นเมืองที่ยังต้องทำการเกษตร ทำให้เป็นภาระมากในการไปรับส่งบุตรหลานไปเรียนหนังสือตามเกณฑ์บังคับของทางราชการ

ต่อมาชุมชนได้เรียกร้องขอให้สำนักงาน สพป.เขต 2 กลับมาเปิดการเรียนการสอนในโรงเรียนบ้านค้างใจ ในปีการศึกษานี้ โดยชาวบ้านและผู้ปกครองได้รวบรวมนักเรียนในหมู่บ้านที่ออกไปเรียนโรงเรียนอื่นๆ กลับมาเรียนได้แล้ว 46 คน แยกเป็นเด็กประถมวัย 32 คน ก่อนประถมวัย 14 คน ซึ่งตามเกณฑ์ของการศึกษาขั้นพื้นฐานถ้าโรงเรียนไหนมีนักเรียน 41 คน ควรมีการให้ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนและครูผู้สอน จำนวน 3 คน แต่ในเทอมแรกที่กลับมาเปิดการเรียนการสอนก็มีปัญหาครูไม่เพียงพอ แม้จะทำเรื่องขออัตราครูเอกประถมวัย และเอกคณิตศาสตร์ ไปยังสำนักงานฯ รวม 2 อัตรา แต่ยังไม่มีการตอบรับจากผู้บริหาร

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้โรงเรียนบ้านค้างใจสามารถเปิดการเรียนการสอนให้แก่ลูกหลานในชุมชนได้ต่อไป นักธุรกิจ พระสงฆ์ รวมทั้งองค์กรเอกชนที่ทราบข่าวต่างร่วมแรงร่วมใจ ต่างพากันขนสิ่งของอุปกรณ์การเรียน สิ่งอำนวยความสะดวกมามอบให้กับทางโรงเรียน ขณะที่ชาวบ้านร่วมกันซ่อมแซมอาคารและรั้วโรงเรียน จนทำให้โรงเรียนมีความพร้อมโดยไม่ต้องใช้งบประมาณจากภาครัฐซึ่งอาจล่าช้าหรือไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ยังร่วมกันบริจาคเงินเป็นเงินเดือนสำหรับครูจ้างสอน คือ น.ส.อรจิรา สุระปัญญา เอกภาษาไทย ได้รับเงินเดือนๆ จากการบริจาคของผู้ปกครองเดือนละ 6,000 บาท ขณะที่ น.ส.สิริภรณ์ สีสด ครูจ้างสอนเอกสังคมอีกราย ได้รับเงินสนับสนุนเดือนละ 6,000 บาท จากพ่อของตัวเองคือนายอำนวย สีสด เพื่อให้มาช่วยสอนในโรงเรียนแห่งนี้เนื่องจากไม่มีครูเพียงพอ

นางจันทร์เพ็ญ คำเหลือง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านค้างใจ กล่าวว่า การเรียกร้องให้โรงเรียนบ้านค้างใจกลับมาเปิดสอนได้อีกครั้ง ยอมรับว่าถูกกดดันจากหลายหน่วยงานมาก บางหน่วยงานไม่พอใจที่เราออกมาเคลื่อนไหวให้เปิดโรงเรียน แต่ในที่สุดพวกเราก็ได้โรงเรียนคืนชุมชน ผู้ปกครองและผู้ที่ทราบข่าวต่างเข้ามาให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่

“ต้องยอมรับว่าบ้านค้างใจเป็นชุมชนที่อยู่ห่างไกลความเจริญ อยู่ไกลจากโรงเรียนอื่นๆ การยุบรวมทำให้ผู้ปกครองลำบากมาก สิ่งที่ชุมชนและโรงเรียนต้องการคือ อยากให้ผู้บริหารหน่วยงานการศึกษาเห็นความสำคัญ สนับสนุนโรงเรียนด้วยความเป็นธรรม เช่น อัตราครูผู้บริหารและผู้สอน รวมทั้งงบประมาณ ไม่ควรให้ประชาชนใช้วิธีการบริจาคเช่นที่เป็นอยู่”

ทั้งนี้ยังมีโรงเรียนในเขตการศึกษาประถมศึกษาแพร่เขต 2 อีกกว่า 10 แห่ง ที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กรอการยุบรวม ซึ่งจะเป็นปัญหากับผู้ปกครองในชุมชนต่างๆ เหล่านี้มาก
กำลังโหลดความคิดเห็น