ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ผอ.ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ยันไม่ห้ามหิ้วอาหารพื้นเมืองขึ้นเครื่อง เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ควบคุมของเหลวเคร่งครัด แจงยิบหลังผู้คนเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนเป็นวงกว้าง
นายอมรรักษ์ ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแลด้านการบินของไทย ได้ออกประกาศ “หลักเกณฑ์การตรวจค้นของเหลว เจล สเปรย์ที่จะนำขึ้นบนห้องโดยสารอากาศยาน หรือเข้าไปในเขตหวงห้ามของสนามบินสาธารณะ พ.ศ. 2562” เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2562 นั้น ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานทุกแห่งในสังกัดบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท./AOT) รวมทั้งท่าอากาศยานทุกแห่งในประเทศไทยได้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ซึ่งสาระสำคัญประการหนึ่งที่แตกต่างจากประกาศกรมการขนส่งทางอากาศเรื่องข้อกำหนดเกี่ยวกับการนำของเหลว เจล สเปรย์ หรือวัตถุและสารอื่นๆ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกันขึ้นในห้องโดยสารอากาศยาน ที่ประกาศและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา
โดยการกำหนดคำนิยามของ “ของเหลว เจล สเปรย์” หมายรวมถึงของเหลวในรูปแบบต่างๆ เช่น น้ำ เครื่องดื่ม ซุป น้ำเชื่อม แยม สตูว์ ซอส น้ำพริก หรืออาหารอย่างอื่นที่อยู่ในซอส หรือที่มีส่วนประกอบเป็นของเหลวในปริมาณมาก ตลอดจนครีม โลชั่น เครื่องสำอาง น้ำมัน น้ำหอม หรือเจลในรูปแบบต่างๆ เช่น ยา ยาสีฟัน อาหาร ยาสระผม เจลอาบน้ำ หรือวัตถุหรือสารที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่มีแรงดันและต้องฉีดพ่นเพื่อนำออกมาใช้ เช่น สเปรย์ โฟม รวมถึงวัตถุหรือสารที่มีส่วนผสมของของแข็งและของเหลว เช่น มาสคารา ลิปสติก หรือลิปปาล์ม ซึ่งผู้โดยสารสามารถนำของเหลวที่เข้าข่ายตามคำนิยามดังกล่าวไปกับอากาศยานได้ด้วยการโหลดเป็นสัมภาระใต้ท้องเครื่อง แต่หากต้องการนำติดตัวขึ้นไปบนห้องโดยสารอากาศยานจะต้องอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิทและมีปริมาตรไม่เกิน 100 มิลลิลิตร และต้องมีข้อความระบุปริมาตรของบรรจุภัณฑ์อย่างชัดเจน
สำหรับอาหารพื้นเมืองที่เข้าข่ายตามประกาศของ กพท.โดยเฉพาะอาหารพื้นเมืองชาวเหนือหลายชนิดก่อนหน้านี้มีการเผยแพร่ข้อความว่ามีการห้ามอาหารพื้นเมืองทุกชนิดหิ้วขึ้นเครื่องบิน ซึ่งถือเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเรื่องดังกล่าว โดยอาหารพื้นเมืองทุกชนิดก็ยังสามารถนำขึ้นเครื่องได้ ได้แก่ อาหารพื้นเมืองที่มีลักษณะเป็นอาหารเหลว และน้ำพริกต่างๆ อย่างน้ำหริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง น้ำพริกตาแดง และเครื่องแกงต่างๆ ส่วนอาหารพื้นเมืองอื่นๆ เช่น แคบหมู ไส้อั่ว สามารถนำเข้าเขตหวงห้าม และขึ้นบนห้องโดยสารอากาศยานได้ แต่ต้องปิดบรรจุภัณฑ์ให้มิดชิด เพื่อไม่ให้ส่งกลิ่นรบกวนผู้โดยสารอื่น
ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ คือ เรื่องของบรรจุภัณฑ์ ที่ตอนนี้พบปัญหาว่าร้านค้าไม่ได้ใส่บรรจุภัณฑ์ หรือฉลากที่มีการระบุปริมาตร ที่ชัดเจนทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ทราบว่ามีปริมาณเกิน 100 มิลลิตรตามกฎการบินหรือไม่ จึงทำให้ไม่สามารถอนุญาตให้นำขึ้นเครื่องได้ แต่พบว่าปัญหานี้พบในช่วงแรกระยะประมาณ 1-2 สัปดาห์ในมาตรการเข้มงวดนี้ แต่หลังจากนั้นเริ่มไม่พบปัญหาเนื่องจากร้านค้าที่จำหน่ายอาหารพื้นเมืองสำหรับเป็นของฝากนักท่องเที่ยวเริ่มมีการปรับตัวประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าทราบ ให้สามารถโหลดใต้ท้องเครื่องไปได้ แต่หากต้องการหิ้วขึ้นเครื่องก็ต้องปฏิบัติตามกฎ โดยเฉพาะเรื่องของบรรจุภัณฑ์ และสลาก ตอนนี้ก็เริ่มพบปัญหาน้อยลงตามลำดับ พร้อมกับฝากประชาสัมพันธ์ให้ร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าประเภทอาหารให้มีการปรับปรุงเน้นย้ำเรื่องของบรรจุภัณฑ์ และสลากที่ต้องระบุปริมาตรชัดเจน