เพชรบุรี - อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เปิดภาพครอบครัวเสือดาวลูก 2 ที่เป็นลูกเสือดาว 1 ตัว และลูกเสือดำ 1 ตัว พร้อมบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ และยืนยันว่าผืนป่าแก่งกระจานมีความสมบูรณ์พอที่จะเป็นมรดกโลก
นายมานะ เพิ่มพูน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เปิดเผยว่า จากการนำกล้องดักถ่ายติดตั้งภายในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จะเห็นได้ว่าสามารถบันทึกภาพสัตว์ป่าหายากไว้ได้อย่างมากมาย ทั้งเสือดาว เสือดำ
โดยล่าสุด กล้องที่ติดตั้งไว้บริเวณพื้นที่ห่างจากเขาพะเนินทุ่งขึ้นไปทางทิศตะวันตก ทางเทือกเขาตะนาวศรี ห่างชายแดนไทย-พม่าประมาณ 10 กม. ซึ่งใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 3 วัน ในการติดตามประชากรตามป่าที่อยู่ติดชายแดนไทย -พม่า พบว่า มีความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่า มีการพบร่องรอยทางเดินมนุษย์ พบสัตว์ทั้งเหยื่อ ทั้งผู้ล่า และกล้องสามารถบันทึกภาพของครอบครัวเสือดาวเอาไว้ได้ โดยภาพที่เห็นแม่เสือดาวจะเดินนำหน้าโดยมีลูก 2 ตัว เป็นเสือดาว 1 ตัว และ เสือดำ 1 ตัว
เป็นภาพที่น่ารักและสะท้อนให้เห็นถึงความสมบูรณ์และการเพิ่มทรัพยากรสัตว์ป่าอย่างเห็นได้ชัด และเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่สัตว์ป่ายังคงอยู่ และบริเวณเดียวกันก็ยังพบสมเสร็จ วัวกระทิง ช้างป่า เก้ง ซึ่งเป็นพื้นที่ความหวังในการดูแลรักษาสัตว์ป่าซึ่งข้ามไปข้ามมาระหว่างชายแดน เรามีความพยายามในการติดตามจำนวนประชากรสัตว์ป่าทุกชนิด ทั้งเสือโคร่ง เสือดาว เสือดำ และจระเข้น้ำจืด
ปัจจุบันเราพบร่องรอยได้บ่อยครั้งขึ้น และจากตรงนี้ทำให้เราสามารถแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแก่งกระจานตามข้อเสนอมรดกโลกที่เราเสนอเรื่องความสมบูรณ์และความหลากหลายทางระบบนิเวศของชนิดพืชและสัตว์ที่หายาก ซึ่งเป็นตัวยืนยันว่าผืนป่าแก่งกระจานมีความสมบูรณ์พอที่จะเป็นมรดกโลก ซึ่งได้รับความร่วมมือจากชุมชนที่อยู่ในพื้นที่
โดยเฉพาะชุมชนชาวกะเหรี่ยง ซึ่งปัจจุบันการลักลอบทำลายทรัพยากร การรุกล้ำสถานที่และการลักลอบล่าสัตว์ป่าลดลง ส่วนเรื่องของการป้องกันการลักลอบจากบุคคลภายนอก เราเพิ่มสายตรวจชุดลาดตระเวนเป็น 15 ชุด ที่เฝ้าดูแลรักษาทรัพยากรและลาดตระเวนให้ครบพื้นที่ทั้งหมด โดยมีเป้าหมายการเดินไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ ได้มีการมาเดินลาดตระเวนครอบคลุมพื้นที่ได้เกือบถึง 60 เปอร์เซ็นต์แล้ว ซึ่งเป้าหมายต่อไปในอนาคตถ้าเราสามารถพัฒนาระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพให้ดีขึ้น ทำให้เราสามารถเดินได้ใกล้เคียง 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เราพบเห็นประชากรสัตว์ป่าได้มากขึ้น โดยนโยบายเรื่องการดูแลทรัพยากรด้วยการลาดตระเวน ครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ท่านได้ให้ความสำคัญต่อทุกอุทยาน เพราะฉะนั้นในอนาคตหากมีการพบสัตว์ป่าออกมาเพิ่มขึ้นบริเวณชายขอบก็จะต้องดูแล โดยความร่วมมือกับภาคประชาชนทุกภาคส่วนเพื่อที่ช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรสัตว์ป่าให้คงอยู่