xs
xsm
sm
md
lg

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรสั่งขยายพันธุ์ทุเรียนท้องถิ่นเมืองกาญจน์อายุกว่า 100 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กาญจนบุรี - รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ลุยพิสูจน์ทุเรียนอายุกว่า 100 ปี กลางป่าทุ่งใหญ่ พบรสชาติหอม ดั่งทุเรียนกวน พร้อมให้เจ้าหน้าที่นำกิ่งทดลองขยายพันธุ์ เพื่อประโยชน์ของชาวบ้านในพื้นที่



ความคืบหน้ากรณี นายปกรณ์ กรรณวัลลี นายอำเภอสังขละบุรี และนายสมชาย วุฒิพิมลวิทยา นายก อบต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ได้เดินทางไปพิสูจน์ต้นทุเรียนของนายหยี่ซองเจ้ง สังขเพลินไพร อายุ 77 ปี อยู่บ้านเลขที่ 1 หมู่ 1 บ้านสะเนพ่อง ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา

โดยทุเรียนต้นดังกล่าวมีอายุกว่า 100 ปี โดยพ่อของนายหยี่ซองเจ้ง สังขเพลินไพร ปลูกเอาไว้กลางป่าห่างจากหมู่บ้านกว่า 3 กม.โดยพื้นที่ที่ปลูกอยู่บริเวณพื้นที่ราบกลางหุบเขา และเป็นพื้นที่ต้นน้ำชื่อลำห้วยปุปุ ที่ชาวบ้านนำน้ำมาผลิตเป็นน้ำประปาในหมู่บ้าน ซึ่งเส้นทางเดินมีความยากลำบาก เนื่องจากต้องปีนเขาขึ้นไป สำหรับทุเรียนเมื่อสุกจะมีเนื้อสีแดง รสชาติหวานมัน เนื้อหนา เม็ดเล็ก ซึ่งสื่อมวลชนได้นำเสนอจนเป็นข่าวเกรียวกราวมาแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด นายชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมด้วยนายบุญเลี้ยง ข่ายม่าน เกษตรจังหวัดกาญจนบุรี นายสมหวัง บัวงาม หน.เกษตรอำเภอสังขละบุรี นายคำรณ มะปรางหวาน ผอ.ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง จ.กาญจนบุรี (เกษตรที่สูง) สังขละบุรี และนายสมชาย วุฒิพิมลวิทยา นายก อบต.ไล่โว่

ได้เดินทางไปพบนายหยี่ซองเจ้ง สังขเพลินไพร วัย 77 ปี เจ้าของ เพื่อขอพิสูจน์ต้นทุเรียนต้นดังกล่าว จากการวัดเส้นรอบวงกลม ปรากฏว่าวัดได้กว่า 3 เมตร ขณะเดียวกัน นายชาตรี บุญนาค พร้อมคณะได้นำทุเรียนที่ร่วงหล่นลงมาจากต้นมาชิมเพื่อลิ้มรสดู ปรากฏว่า ทุกคนต่างชื่นชอบในรสชาติ เนื่องจากความหวานมัน มีกลิ่นหอมคล้ายกับทุเรียนกวน

จากนั้น นายชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้มอบเกียรติบัตร ให้แก่นายหยี่ซองเจ้ง สังขเพลินไพร เพื่อเป็นการยกย่องในฐานะที่เป็นผู้อนุรักษ์ทุเรียนพันธุ์ท้องถิ่น ที่มีคุณภาพดี และมีอายุยืนยาวกว่า 100 ปี ซึ่งหาได้ยากมาก

ขณะเดียวกัน นายชาตรี ได้มอบหมายให้ นายคำรณ มะปรางหวาน ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการเกษตรพื้นที่สูง (เกษตรที่สูง) สังขละบุรี นำกิ่งทุเรียนกลับไปเพื่อทดสอบการขยายพันธุ์เพื่ออนุรักษ์เอาไว้ และหากประสบความสำเร็จก็จะสามารถนำไปแจกจ่ายให้เกษตรกรในพื้นที่เพื่อทำการเพาะปลูกในอนาคตต่อไป





กำลังโหลดความคิดเห็น