xs
xsm
sm
md
lg

รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร​ จ.ปราจีนบุรี​ เปิดตัว “คลินิกกัญชา” รักษาโรคลมชัก-พาร์กินสัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปราจีนบุรี- โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร​ เปิดตัว “คลินิกกัญชา” รักษาลมชัก-พาร์กินสัน พร้อมเตรียมขยายผลการรักษาในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายและโรคปวดปลายประสาท​ ในอีกไม่เกิน 2 เดือนข้างหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้​ (24 มิ.ย.)​ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร​ ได้จัดการประชุมทางวิชาการหัวข้อ “กัญชาทางการแพทย์” เนื่องในโอกาสครบรอบ 78 ปี การสถาปนาโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร​ จ.ปราจีนบุรี​ โดยได้เชิญวิทยากรระดับกูรูทางด้านการแพทย์ทั้งแผนไทยและแผนปัจจุบัน ตลอดจนนักวิชาการหลากหลายแขนง เช่น นายแพทย์​ ธเรศ กรัษนัยระวิวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นายแพทย์​ นำพล แดนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พ.อ.แพทย์หญิง​ นวพร หิรัญวิวัฒน์กุล ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ประธานยุทธศาสตร์การแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ศาสตราจารย์​ นายแพทย์ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.นายแพทย์ปัตพงษ์ เกษมสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมในการเสวนา​ และมีผู้ที่สนใจเรื่องการใช้กัญชารักษาโรคเข้าร่วมฟังการบรรยายเป็นจำนวนมาก

โดย​ นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยระวิวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา​ กล่าวว่า ปัจจุบัน​ อย.ได้สนับสนุนให้หน่วยงานที่มีศักยภาพในการผลิตสารสกัดกัญชา สามารถขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์ได้อย่างเป็นระบบ​ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร​ ซึ่งถือเป็น​ 1 ใน 4 รายที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชาเพื่อใช้ในการรักษาโรคได้​

ส่วนกรณีที่คณะรัฐมนตรี เห็นชอบหลักการของร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตเกี่ยวกับการโฆษณายาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะกัญชา เพื่อรองรับกรณีการให้ข้อมูลทางวิชาการของยากัญชาที่ผลิตในประเทศแก่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ใช้ในการพิจารณาสั่งใช้ยาอย่างเหมาะสมนั้น​ ก็เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยในอนาคต

เช่นเดียวกับ​ นายแพทย์​ นำพล แดนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร​ ที่เผยว่า หลังจากที่มีนโยบายชัดเจนจากรัฐบาลแล้วว่าจะสนับสนุนให้มีการใช้กัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย​ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข​และเลขาธิการ อย. ก็ได้หารือกันและเห็นว่าโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในฐานะที่เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร ตั้งแต่การปลูก การสกัด และมีการใช้มานาน ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องทำให้เป็นต้นแบบเพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้กัญชาที่ปลอดภัย​ ซึ่งหน่วยงานทางการแพทย์ได้ศึกษาข้อมูลจากทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนปราชญ์ชาวบ้านที่ศึกษาเรื่องการใช้กัญชาในการรักษาโรค พบว่า กัญชา​ มีความซับซ้อนและมีพฤษเคมีมากกว่า 500 ชนิด​ จึงต้องมีการศึกษาและวิจัยอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี​โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร​ ยังได้มีการเปิดตัว​ “คลินิกกัญชา” รักษาโรคลมชักและพาร์กินสัน ที่คาดว่าในอีกไม่เกิน 2 เดือนข้างหน้าจะสามารถใช้ในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายและโรคปวดปลายประสาทได้อีกด้วย

ทั้งนี้ การเปิด​ "คลินิกกัญชา" ทางการแพทย์มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยโรคลมชักและพาร์กินสัน โดยแพทย์และเภสัชกรที่ผ่านการฝึกอบรม นอกจากนี้ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ยังเป็นต้นแบบในการปลูกกัญชาแบบรากลอยเพื่อทำต้น และรากจมเพื่อทำดอก รวมถึงระบบกรีนเฮาส์ที่ชาวบ้านทั่วไปสามารถนำไปใช้และปลูกได้ด้วยวิธีที่เหมาะสมในอนาคต โดยมี​ ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ประธานยุทธศาสตร์การแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร​ เป็นผู้ดูแลเรื่องการ​พัฒนาโรงเรือนให้เป็นโรงเรียนเพื่อเรียนรู้การปลูกกัญชา ส่งต่อความรู้ให้แก่ประชาชน

โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ เผยว่า ในอีกประมาณ 4 เดือนข้างหน้าจะมีความชัดเจนว่า กัญชาจำนวน​ 16 ต้น ที่ปลูกในตู้คอนเทนเนอร์จะมีต้นทุนการปลูกเท่าใด​ และการศึกษาจากการปลูกในหลายวิธีนั้นจะได้วิธีไหนที่ดีที่สุด เพื่อให้เกษตรกรสามารถลงทุนได้และมีระบบการควบคุมไม่ให้เล็ดลอดไปสู่การปลูกเพื่อเป็นยาเสพติด

"อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เกษตรกรยังไม่สามารถปลูกเองได้ เพราะเรายังรู้ไม่ว่าวิธีไหนที่จะได้ผล นอกจากนี้ ในอนาคตนอกจากอภัยภูเบศรแล้ว ก็จะขยายโหมดออกไปทั่วประเทศ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อยอดจากอภัยภูเบศรต่อไป" ภญ.ดร.สุภาภรณ์ กล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น