xs
xsm
sm
md
lg

นายกเล็กนครพิษณุโลกยัน “บ่อบำบัดหนองอีเฒ่า 500 กว่าล้าน” ยังดี แต่ต้นทุนพุ่ง-ล้าสมัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิษณุโลก - นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลกยืนยัน “บ่อบำบัดหนองอีเฒ่า มูลค่า 500 กว่าล้าน” ยังไม่เสีย รอเปลี่ยนหม้อแปลงฯ ก็เดินระบบได้ แต่ติดปัญหาต้นทุนส่งน้ำเสียพุ่ง จ่อของบอีก 70 ล้าน วางระบบใหม่รับน้ำเสียบางส่วนบำบัดปล่อยตรงลงน้ำน่านได้เลย
นายบุญทรง แทนธานี นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก
หลังมีการนำเสนอข่าวโรงงานปรับปรุงคุณภาพน้ำ หรือบ่อบำบัดน้ำเสียหนองอีเฒ่า ต.วังพิกุล อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ของเทศบาลนครพิษณุโลก ที่ใช้เงินงบประมาณลงทุนรวมกว่า 500 บาท ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2541 เพื่อรวบรวมน้ำเสียจากเขตตัวเมืองพิษณุโลกส่งเข้าบำบัดก่อนปล่อยลงแม่น้ำวังทอง-แม่น้ำน่าน จนถึงขณะนี้กลับไม่สามารถใช้งานได้ และมีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการต่อท่อปล่อยน้ำเสียลงน้ำน่านโดยตรงด้วยนั้น

วันนี้ (24 มิ.ย.) นายบุญทรง แทนธานี นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก เปิดเผยว่า ตามแผนของกรมโยธาธิการสมัยนั้นคือ รวมน้ำเสียเขตพาณิชยกรรมพิษณุโลกฝั่งตะวันออกทั้ง 17 ท่อ ส่งเข้า PUMP STATION PS 1 คือ จุดรวมท่อบริเวณก๋วยเตี๋ยวจุกไก่ไทย มีน้ำเข้าวันละ 2,000 คิวต่อวัน จากนั้นรวมไปยัง PS 2 รับน้ำ 4,000 คิวต่อวัน คือบริเวณหลังศูนย์การค้าราม่า (เดิม) และรวมไปยัง PS 3 คือถนนพญาเสือรวมเป็น 8,000 คิวต่อวัน แล้วส่งเข้า PS4 ใต้สะพานสูง เพื่อส่งผ่านไปยัง PS5, PS6 บริเวณคลองโคกช้าง ก่อนส่งน้ำเสียเข้าโรงบ่อบำบัดน้ำเสียหนองอีเฒ่า ซึ่งเป็นระบบ “บ่อผึ่ง” บำบัดด้วยวิธีเติมอากาศ-ปล่อยตากแดด แล้วปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ

แต่ปัญหาคือ ระยะทางที่นำน้ำจากครัวเรือนไปบำบัดยาว 40 กิโลเมตร อีกทั้งพื้นที่มีระดับความสูงชันอีก ทำให้น้ำเสียที่จะส่งไปบำบัดที่หนองอีเฒ่าจะต้องใช้ปั๊มสูบน้ำอย่างเดียว แต่ถือว่าเป็นเทคโนโลยีถูกที่สุดในยุคสมัยนั้น และไม่ต้องใช้สารเคมีด้วย

หลักการออกแบบส่งน้ำเสียไปบำบัดหนองอีเฒ่า ตอนนั้นประเมินว่าจะมีต้นทุนเพียงไม่ถึง 1 บาท แต่กลับไม่คิดว่าน้ำที่วิ่งไปหนองอีเฒ่าระยะทาง 40 กิโลเมตร จะต้องเสียค่าไฟฟ้าด้วย ประเมินแล้วต้องเสียค่าใช้จ่าย 4-6 บาทก่อนจะเป็นน้ำดี นอกจากนี้ บริษัทรับเหมา คือ บริษัทหลานหลวง ที่เป็นผู้รับสัญญาก่อสร้างท่อและบ่อบำบัด กลับซับงานต่อให้บริษัทอื่น และงานทำไม่เสร็จ-บริษัทล้มละลาย ทิ้งงานในที่สุด

ยุคนั้น นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทย์ฯ ดึงงบประมาณมาสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียหนองอีเฒ่าก้อนแรก 379,000,000 บาท หลังจากนั้นมีความพยายามส่งมอบให้เทศบาลนครพิษณุโลก แต่ไม่สามารถเดินระบบได้เนื่องจาก PS5 เสีย ทำให้มวลน้ำไม่เข้าบ่อบำบัดหนองอีเฒ่า รวมทั้งท่อรั่ว-แตกซึมเนื่องจากไม่ใช้แหวนยางรอง

แต่ระหว่างนั้นได้งบซ่อมแซม PS 4, PS 5 อีก 59,000,000 บาท และ 81,000,000 บาท กระทั่งมีการส่งมอบให้เทศบาลฯ เมื่อปลายปี 61 และทดสอบระบบงานท่อบ่อบำบัด (ใต้สะพานสูง PS 4) จนถึงหนองอีเฒ่าได้สำเร็จ แต่มีเงื่อนไขในการรับมอบ คือ ปีแรกกรมโยธาธิการฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเดินงานทั้งหมดเอง ขึ้นปีที่ 2 เทศบาลนครพิษณุโลกจะต้องออกเงิน 25% โยธาธิการออกเงิน 75% ขึ้นปีที่ 3 ออกกันคนละครึ่ง และปีที่ 4 เทศบาลนครพิษณุโลก จะต้องออกเงิน 75% โยธาธิการออกเงิน 25% จากนั้นปีที่ 5 เทศบาลฯ จะจ่ายเองทั้งหมด

“วันนี้ได้ทวงถามไปว่าข้อตกลงเหมือนเดิมหรือไม่ ทางกรมโยธาธิการบอกไม่มีงบประมาณแล้ว จะผลักภาระให้เทศบาลนครพิษณุโลกทั้งหมด สุดท้ายเทศบาลฯ ก็รับมอบในที่สุด จากนั้นได้ไปทำข้อตกลง MOU กับองค์การจัดการเรื่องน้ำเสีย (อจน.) สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ที่โอนย้ายมาอยู่กับมหาดไทย ซึ่งดูแลเรื่องระบบน้ำเสียทั่วประเทศ โดยเทศบาลฯ ยินดีออกค่าใช้จ่าย ขอเพียง อจน.จัดการเรื่องน้ำเสียดำเนินการให้ได้เท่านั้น”

เมื่อ อจน.ลงมาดูก็พบว่าระบบไฟบ่อบำบัดหนองอีเฒ่าไม่สมบูรณ์ จึงได้เปลี่ยนหม้อแปลงไปแล้วจำนวน 2 แสนบาท (อยู่ระหว่างเปลี่ยนหม้อแปลงไฟ) แต่พอลงไปสำรวจดูว่าท่อรวมรวมน้ำทั้งในจุด PS 1-3 ก็พบเป็นระบบล้าสมัย ไม่สมบูรณ์ ต้องซ่อมแซม

อย่างไรก็ตาม เทศบาลฯ มองว่าน่าจะมีระบบใหม่ ด้วยการนำเครื่องจักรใหม่ขนาด 10 เมตร คูณ 20 เมตร มาวางแทนระบบเทคโนโลยีเดิม ซึ่งใช้ระบบแบคทีเรียกำจัดน้ำเสีย ก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำน่าน สามารถตรวจค่า EOD ได้ ซึ่งถือว่าดีและง่าย ไม่มีต้นทุนค่าไฟฟ้าสูบน้ำไปตากแดดที่หนองอีเฒ่า

โดยจุด PS 1 ลงทุนระบบใหม่ติดตั้งเครื่องใต้ถนนจำนวน 28 ล้านบาท จุด PS 2 ต้องลงทุน 2 เครื่อง (เนื่องจากมีน้ำรับมาจากจุดแรก) ลงทุน 40 ล้านบาท ส่วนจุด PS 3 ก็ลงทุนเพียงเครื่องเดียว สามารถบำบัดน้ำก่อนปล่อยลงแม่น้ำน่านได้เลย

ส่วน PS 4 จะเหลือน้ำเสียส่งไปบำบัดที่หนองอีเฒ่าเพียง 4,000 คิวต่อวันเท่านั้น ซึ่งก็ถือว่าเสียต้นทุนค่าสูบน้ำลดลง ถ้าเปลี่ยนหม้อแปลงเสร็จก็คงทดสอบระบบได้ เพราะว่าบ่อบำบัดไม่ได้เสียคาดว่ารับน้ำเสียได้ไม่เกิน 6,000 คิว และคาดว่าบ้านเรือนในพื้นที่ ต.อรัญญิก-ต.สมอแข ก็สามารถจะใช้บ่อบำบัดหนองอีเฒ่าได้ด้วย

นายบุญทรงย้ำว่า เลือกลงทุนระบบใหม่ดีกว่าใช้งบฯ อีก 70 ล้าน แต่เวลานี้เทศบาลนครพิษณุโลกยังไม่มีงบประมาณ แต่ได้ทำเรื่องของบประมาณไปที่กระทรวงมหาดไทยไปแล้ว และ อจน.ก็เห็นด้วย เรื่องดังกล่าวผู้ว่าฯ พิษณุโลกรับทราบแล้ว ล่าสุดมีบริษัทเอกชนมานำเสนอเทคโนโลยีแล้ว แต่เชื่อว่างบประมาณ 70 ล้านบาทคงไม่ได้มารวดเร็วต้องใช้เวลา

“บ่อบำบัดหนองอีเฒ่ายังใช้ได้ และหากย้อนไปเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีที่แล้วก็ไม่มีหน่วยงานใดผิด เพียงแต่เทคโนโลยีเก่า สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือ ผู้รับเหมาทำไม่เสร็จและล้มละลายไปแล้ว”

ส่วนฝั่งตะวันตกของตัวเมืองก็ต้องปล่อยไว้ก่อน ยังไม่มีแผนการบำบัด ต้องปล่อยน้ำเสียตรงอย่างเดียว ไม่เช่นนั้นต้องเอาเงินงบประมาณไปทุ่มอีก แต่ตามหลักการผู้ใช้ หรือคนปล่อยน้ำเสียจะต้องจ่ายเอง ซึ่งอาจจะบวกเพิ่มกับค่ามิเตอร์การใช้น้ำดี โดยไม่จำเป็นต้องไปติดมิเตอร์น้ำเสีย แต่ก็ต้องถามว่าประชาชนคนพิษณุโลกจะเลือกไหม เพราะขณะนี้คนทั้งประเทศก็ยังไม่เคยจ่ายค่าน้ำเสียกันเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น