xs
xsm
sm
md
lg

จัดงานแต่งย้อนยุค เจ้าบ่าว 86 เจ้าสาว 84 ฟื้นประเพณีโบราณขายท่องเที่ยว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เลย - มหาวิทยาลัยราชภัฏเลยเป็นโต้โผรื้อฟื้นศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่นใน อ.ภูหลวง โดยจัดงานแต่งย้อนยุคโบราณเจ้าบ่าวอายุ 86 ปี เจ้าสาวอายุ 84 ปี หวังอนุรักษ์รากเหง้าอันดีงาม ประชาสัมพันธ์ขายการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตและวัฒนธรรม



มหาวิทยาลัยราชภัฏเลยร่วมกับอำเภอภูหลวง ชุมชนบ้านหนองบัว และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.5 จัดงานแต่งย้อนยุค ให้แก่ผู้สูงอายุในพื้นที่ชุมชนบ้านหนองบัว อ.ภูหลวง จ.เลย เป็นการรื้อฟื้นงานแต่งงานแบบโบราณ ซึ่งเจ้าบ่าวในงานนี้คือ คุณตาสวน มีสีแก้ว อายุ 86 ปี และเจ้าสาวคือ คุณยายบัว มีสีแก้ว อายุ 84 ปี โดยทำพิธีผูกข้อต่อมือเหมือนสมัยหนุ่มสาวที่คุณตาอายุเพียง 20 ปี และคุณยายอายุเพียง 17 ปี ผ่านมาแล้วกว่า 68 ปี และยังจำความได้ เล่าผ่านประสบการณ์ถ่ายทอดสู่ลูกหลานในชุมชน พร้อมส่งตัวเข้าเรือนหอที่มีการตกแต่งขึ้นใหม่อย่างสวยงาม

ก่อนหน้านี้ อพท.5 ได้ลงพื้นที่เพื่อส่งเสริมและพัฒนาชุมชนเกี่ยวกับการท่องเที่ยว โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเลยช่วยสร้างบ้านพักหรือเรือนหอของคุณตาสวน และคุณยายบัวมาแล้ว และครั้งนี้เป็นการจัดงานแต่งงานแบบโบราณ มีลูกๆ 7 คน และหลานอีก 6 คน ร่วมเป็นสักขีพยานรัก

รศ.ไทยโรจน์ พวงมณี สำนักวิชาการศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย กล่าวว่า ตำบลภูหอ อ.ภูหลวง จ.เลย เป็นตำบลหนึ่งที่มีหลายหมู่บ้านรวมกัน และคนในชุมชนก็มีการทำกิจกรรมร่วมกัน ทั้งกิจกรรมเพื่อสังคมและกิจกรรมเชิงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนเอง เช่น วัฒนธรรมและประเพณีเกี่ยวกับพญาช้างและนางผมหอมที่มีการจัดทุกปีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ หรือการจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาตำบลด้วยการเก็บขยะและทำความสะอาดในพื้นที่สำคัญ และพื้นที่สาธารณะ

ที่สำคัญ ชาวบ้านในเขตตำบลภูหอล้วนมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย แต่วัฒนธรรมแบบดั้งเดิมได้ค่อยๆ เลือนหายไปพร้อมกับการพัฒนาเมืองและการศึกษาของคนในชุมชน เช่น วัฒนธรรมการแต่งงาน ที่ถือว่าเป็นวัฒนธรรมหนึ่งที่มีความสำคัญในสังคมไทย อันเป็นพิธีกรรมที่คาบเกี่ยวกับความเชื่อในศาสนา ความเชื่อของท้องถิ่น และความเป็นสิริมงคลของชีวิตก่อนที่จะออกเรือนไปเป็นครัวเรือนใหม่

การจัดกิจกรรมการส่งเสริมการเรียนรู้ในศิลปวัฒนธรรมของชุมชนนับว่าเป็นบทบาทหน้าที่ของหลายฝ่าย ทั้งองค์กรภายนอกและองค์กรภายในที่จะต้องเข้ามาร่วมมือกันในการประสานงานและสร้างเครือข่ายการจัดกิจกรรมเกิดขึ้น โดยเน้นให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และตระหนักในวิถีชีวิตที่เป็นรากเหง้าดั้งเดิมที่ปัจจุบันอาจหายไปสู่วิถีการปฏิบัติในรูปแบบใหม่


ซึ่งวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการแต่งงานของตำบลภูหอถือว่ามีความน่าสนใจ เพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่มานานและมีการจัดพื้นที่บ้านตาบัวและยายสายเป็นพื้นที่การเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมของชุมชน


ดังนั้น การจัดกิจกรรมการแต่งงานจำลองเพื่อการสร้างและส่งเสริมการตระหนักรู้ในวัฒนธรรมของท้องถิ่นจึงจำเป็นต้องมีขึ้น เพื่อที่จะสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและการสร้างรูปแบบของการรู้รักสามัคคีของชุมชนเช่นเดียวกับการนำมาสู่การประชาสัมพันธ์ให้กับการท่องเที่ยวของชุมชนบ้านหนองบัว อ.ภูหลวง จ.เลย การส่งเสริมการเรียนรู้และการอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมของชุมชนตำบลภูหอผ่านกิจกรรมเชิงวิถีชีวิตและวัฒนธรรม แสดงออกถึงความรักสามัคคีกันของคนในชุมชนตำบลภูหอ อ.ภูหลวง ผ่านกิจกรรมเชิงศิลปะและวัฒนธรรมของชุมชน และเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนบ้านหนองบัว อ.ภูหลวง จ.เลย


กำลังโหลดความคิดเห็น