พิษณุโลก – อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ ย้ำต้องนำกัญชากลับมาใช้ในกระสายยาอีกครั้ง ระบุพร้อมผลิตยาแผนโบราณผสมกัญชาตามตำรับยาหลวง 16 ตำรับ ให้แพทย์พื้นบ้านจ่ายผู้ป่วย
วันนี้(22 มิ.ย.)นายแพทย์มารุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้เป็นประธานเปิดงาน “330 ปี กัญชาภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พิษณุโลกเมืองสมุนไพร” ตามโครงการส่งเสริมตลาดธุรกิจบริการสุขภาพ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 -แผนปฏิบัติราชการกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ประจำปีงบประมาณ 2562 ที่วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร อ.วังทอง จ.พิษณุโลก
โดยมีนายมานิตย์ สีฆสัมบันน์ นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดพิษณุโลก , อาจารย์ประเสริฐ อัตโตหิ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธรจังหวัดชลบุรี , อาจารย์ชัยวัฒน์ พันธ์รัศมี ผู้อำนวยการวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธรพิษณุโลก ,นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ร่วมให้การต้อนรับ
นายแพทย์มารุต เปิดเผยว่า กัญชาเป็นส่วนผสมของยาที่สำคัญต้องนำกลับมาใช้อีกครั้ง แต่แพทย์แผนไทย ก็ใช้กัญชาในปริมาณไม่มากนัก ถือว่าเป็นกระสายยา เป็นตัวหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยตามอาการต่างๆ ซึ่งล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข ประชาคมการแพทย์แผนไทย มีความประสงค์จะใช้กัญชามาเป็นตำรับยารักษาผู้ป่วย ที่ได้รับการวินิจฉัยโรคโดยแพทย์แพทย์ไทย โดยได้เลือกยาแผนโบราณที่มีส่วนผสมกัญชามาแล้ว 90 ตำรับ จากยาแผนโบราณ 26,000 กว่าตำรับ แต่เตรียมให้ใช้ 16 ตำรับก่อน
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการ และเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ได้ทำในหลอดทดลองไปแล้ว พบว่าสารทีเอสซี มีผลในการทำให้เซลล์มะเร็งในสัตว์ทดลองฝ่อตายลง และพบสารพีพีเอ็น เป็นสารอีกชนิดหนึ่งที่ไม่ออกฤทธิ์ทางจิตประสาท ซึ่งเมื่อใช้เซลล์มะเร็งของผู้ป่วยไปเพาะในหนู ก็พบว่ามีผลยับยั้งเซลล์มะเร็งปอดในหนูทดลองได้ ขั้นตอนต่อไปต้องทดลองวิจัยในมนุษย์
อย่างไรก็ตามตำรับยาไทย เป็นทางลัดทางเดียวที่สามารถนำกัญามาใช้ในมนุษย์ได้เลย ไม่ต้องรอทำในสัตว์ทดลองก่อน เป็นวิธีการที่เร็วที่สุดในกระบวนการที่ภูมิปัญญาชาติมีอยู่ ขั้นตอนต่อไปก็เหลือเพียงจะทำอย่างไรให้การวิจัยในระดับมหาวิทยาลัย ทำให้ตำรับยาแผนโบราณที่ประกาศใช้มีความแม่นยำ ถูกต้องจากภูมิปัญญาต่างๆ ซึ่งภาครัฐต้องร่วมมือกัน เพราะกัญชาเป็นของดีและไทยเรามีตำรับยาที่ประเทศอื่นไม่มี