xs
xsm
sm
md
lg

ทน.อุดรฯ ร่วมเกาหลีเล็งลงทุนผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฝังกลบขยะปั่นขายให้ กฟภ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อุดรธานี - เทศบาลนครอุดรธานี MOU ร่วมบริษัท สิ่งแวดล้อมเกาหลี และบริษัทเอกชน ศึกษาความเป็นไปได้นำก๊าซฝังกลบขยะใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า คาดใช้เงินลงทุน 745 ล้านบาท ผลิตไฟฟ้าได้ 1.2 เมกะวัตต์ ขายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

วันนี้ (21 มิ.ย. 62) ณ ห้องประชุมเวสสุวัณ ชั้น 3 อาคารเฉลิมพระเกียรติพัชรกิติยาภา สำนักงานเทศบาลนครอุดรธานี นายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี, นายจูน ยอง จาง (Mr. Joon Young, Jang) ประธาน บริษัท สิ่งแวดล้อมเกาหลี (Korea Environmental Corporation) และบริษัท ไทยโซริด รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์ยี จำกัด และนายฮยอก ยอง ควอน (Mr.Hyeok Young Kwon) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีออนเทค จำกัด (Geoentech., Ltd.) ได้ร่วมกันลงนามความร่วมมือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้การดำเนินการโครงการ CDM ก๊าซที่ฝังกลบจากบ่อขยะฝังกลบของเทศบาลนครอุดรธานี

โครงการดังกล่าวตั้งอยู่ที่โคกหนองหาด ต.หนองนาคำ อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี ซึ่งหลังจากนี้องค์กรรัฐบาลเกาหลีจะร่วมกับภาคเอกชนไทยดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ และจะเป็นผู้รับผิดชอบด้านค่าใช้จ่าย ด้านเทคนิคของการพัฒนา CDM และมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลการก่อสร้างและการดำเนินงานทั้งหมด

ในส่วนเทศบาลนครอุดรธานีจะเป็นส่วนสนับสนุนในเรื่องข้อมูลพื้นฐาน สถานการณ์ปัจจุบันของขยะ ทั้งนี้ โครงการฯ จะศึกษาการผลิตและการจัดการของหลุมฝังกลบ เพื่อให้ได้ก๊าซฝังกลบและนำก๊าซฝังกลบไปใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและพัฒนาให้โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสรุปรายงานภายใน 90 วัน เพื่อพัฒนาโครงการนี้ให้สำเร็จต่อไป

นายวิวัฒน์ โฆษิตสกุล ตัวแทนบริษัท จีออนเทค จำกัด เปิดเผยว่า สถานการณ์ขยะในจุดที่เราจะทำตอนนี้มีข้อมูลขยะเฉลี่ย 289 ตันต่อวัน (ส.ค. 62 - ถึงปลายปี 62) และต้นปี 63 ขยะจะลดลง 80 ตันต่อวัน และเฉลี่ยปีหน้าจะมีขยะประมาณ 200 ตันต่อวัน ซึ่งจากข้อมูลขยะคิดว่าปริมาณแก๊สที่เกิดขึ้นจากหลุมฝังกลบขยะจะเกิดขึ้น 18,000 คิวต่อวัน และจะเป็นแก๊สที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ 3,500 คิวต่อวัน


ทั้งนี้ ประมาณการลงทุนโครงการนี้ฯ จะใช้เงินประมาณ 745 ล้านบาท เป็นการร่วมทุนกันระหว่างเทศบาลนครอุดรธานีกับภาคเอกชน โดยทางภาคเอกชนลงทุน 645 ล้านบาท ส่วนเทศบาลนครอุดรธานีจะลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท เงินจำนวนนี้จะมีการแบ่งทำ 3 โซน คือ โซนที่ 1 จะใช้ประมาณ 30 ล้านบาท ส่วนโซน 2 จะเป็นมีแก๊สจะใช้เงินลงทุน 205 ล้านบาท โซน 3 จะใช้เงินประมาณ 90 และจะมีค่าก่อสร้างทางเดินท่อระบบน้ำเสียต่างๆ ประมาณการใช้เงินอีก 100 ล้านบาท ในส่วนของโรงงานผลิตไฟฟ้าใช้เงินลงทุนประมาณ 320 ล้าน

โครงการดังกล่าวคาดว่าจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 1.2 เมกะวัตต์ โดยจะนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ขายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และหากทุกอย่างมีความเป็นไปได้และเทศบาลนครอุดรธานีเห็นชอบก็จะสู่กระบวนการดำเนินการโครงการ เบื้องต้นตั้งงบประมาณในการศึกษาความเป็นไปได้ 2 ล้านบาท


นายวิวัฒน์กล่าวอีกว่า ผลประโยชน์เมื่อโครงการนี้สำเร็จสิ่งแรกจะเกิดขึ้นคือหลุมฝังกลบขยะแห่งนี้จะยืดอายุการใช้งานได้ออกไปอีก 50 ปี และจะสามารถรับปริมาณขยะเพิ่มขึ้นได้อีก 150 ตันต่อวัน ช่วยลดผลกระทบในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากตัวน้ำชะขยะ สิ่งสำคัญหากโครงการนี้เกิดขึ้นจะช่วยให้ลดปัญหาภาวะโลกร้อน เนื่องจากก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นจากที่ขยะจะถูกนำมาผลิตกระแสไฟฟ้า


กำลังโหลดความคิดเห็น