xs
xsm
sm
md
lg

“บิสคลับ” ปลุกเอสเอ็มอีลุยตลาดออฟไลน์-ออนไลน์ พบอุซเบกิสถานกรุยทางผ่าน R3a-ทางสายไหมเชื่อมเชียงราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เชียงราย - เครือข่ายธุรกิจบิสคลับฯ ปลุกเอสเอ็มอีปรับตัวรับตลาดแพลตฟอร์มใหม่ไร้พรมแดน ยก “เถาเป่าโมเดลจีน” ปั้น “บ้านปางขอน” นำร่อง ผู้ว่าฯ เชียงรายย้ำทำตลาดยุคใหม่ต้องมองข้ามการเมือง-ความมั่นคง ล่าสุดอุซเบกิสถานกรุยทางเชื่อมผ่าน R3a-เส้นทางสายไหมแล้ว

นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย, นางพนิดา ทิพย์ศักดิ์ พาณิชย์จังหวัดเชียงราย, นายพรศักดิ์ นันตะรัตน์ เกษตรจังหวัดเชียงราย และนายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานบิสคลับประเทศไทย ได้นำผู้ประกอบการสินค้าขนาดกลางและย่อม หรือเอสเอ็มอีในภาคเหนือ เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการนำผู้ประกอบการเข้าสู่การค้ายุค 4.0 ต้นสัปดาห์นี้ ที่ห้องประชุมเฮอริเทจ โรงแรมเดอะเฮอริเทจ จ.เชียงราย

ภายในงานมีการบรรยายเรื่องการจัดการและการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจโดย ดร.พีระพงษ์ กลิ่นละออ นักวิชาการ การสร้างระบบออนไลน์เพื่อการตลาด โดยอาจารย์ภควัต รักศรี กรรมการผู้จัดการบริษัทอี-อินดัสทรี เน็ตเวิร์ค จำกัด รวมทั้งการจัดแสดงสินค้า และการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถพัฒนาและนำสินค้าเข้าสู่ระบบตลาดรูปแบบใหม่ได้อย่างแท้จริง

นายประจญกล่าวว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งสำคัญในยุคนี้ ซึ่งตนอยากให้แยกเรื่องเหล่านี้ออกจากเรื่องทางการเมืองและความมั่นคงเพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกัน โดยเฉพาะเมื่อได้มีโอกาสไปพบปะกับตัวแทนของประเทศเพื่อนบ้าน หรืออื่นๆ ทั่วโลกแล้วจะเห็นได้ว่าเขาไม่ได้สนใจเรื่องนี้

โดยเฉพาะเชียงรายมีเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งประเทศพม่า สปป.ลาว และจีนตอนใต้ ซึ่งแม้ว่าเราไม่ได้รุกตลาดก็จะมีนักธุรกิจจากประเทศต่างๆ อย่างจีนรุกเข้ามาอยู่ดี ล่าสุดก็มีตัวแทนจากประเทศอุซเบกิสถานเข้ามาหารือกับจังหวัดฯ ระบุว่าสามารถเชื่อมถึงกันได้ผ่านถนน R3a สปป.ลาว-จีน-เส้นทางสายไหมไปถึงอุซเบกิสถาน ดังนั้นตลาดสินค้าและการพัฒนามูลค่าเพิ่มจึงเป็นเรื่องที่เราต้องทำอย่างต่อเนื่องแทนการใช้วิถีชีวิตแบบเดิมๆ

นายพัฒนากล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะที่อยู่ตามจังหวัดชายขอบเป็นเรื่องที่ภาครัฐเข้าไปบริหารจัดการได้ยาก แม้หน่วยงานต่างๆ จะเข้าไปสนับสนุน แต่เอสเอ็มอีจำนวนมากยังไม่มีความเข้มแข็งพอที่จะยกระดับให้ทันกับยุคสมัยได้ ผู้ประกอบการเองที่มักจะระบุว่าไม่สามารถขายสินค้าได้ แตกต่างจากเอสเอ็มอีที่ปรับตัวเข้ากับยุคใหม่ โดยเฉพาะรายที่สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มใหม่ ที่มีทั้งตลาดออฟไลน์-ออนไลน์ ที่ล่าสุดมีผู้ค้าที่เข้าถึงระบบแล้วกว่า 20,000 ราย จากเดิมมีเพียงแค่ 3,600 ราย และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

นายพัฒนากล่าวอีกว่า แทบไม่น่าเชื่อว่าแท้ที่จริงแล้วเอสเอ็มอีไทยมีศักยภาพมาก เพียงแต่ไม่มีแพลตฟอร์มให้เขาได้เข้าไปแสดงศักยภาพและขยายตลาดได้มาก่อน ซึ่งปัจจุบันตลาดไม่ได้จำกัดเฉพาะในประเทศ แต่เชื่อมถึงต่างประเทศ แม้แต่ตลาดออฟไลน์ ล่าสุดในการจัดกิจกรรมที่สงขลา เมื่อนำผลิตภัณฑ์ไข่เยี่ยวม้าไปจัดเลี้ยงพบว่าผู้ประกอบการจากประเทศมาเลเซียชอบมากและสั่งซื้อสินค้าไปนับ 1,000 กล่อง เป็นต้น บิสคลับจึงร่วมกับเครือข่าย เช่น ร้านปะเลอะเยอะแยะ ภัควดี ฯลฯ ขยายตลาด และกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

“ตอนนี้ตลาดอีคอมเมิร์ซในกลุ่มจีเอ็มเอส และอื่นๆ กำลังเติบโตต่อเนื่อง บิสคลับจึงเร่งขยายตลาดทั้งออฟไลน์-ออนไลน์ไปให้ครบทั้ง 4 ภาคและประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ เริ่มต้นจาก สปป.ลาว และพม่า โดยจัดทำแพลตฟอร์มเป็นภาษาลาวและพม่ารองรับ รวมทั้งกำลังขึ้นไปพัฒนาหมู่บ้านปางขอน ต.ห้วยชมภู อ.เมืองเชียงราย ซึ่งเป็นแหล่งปลูกกาแฟให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยใช้เถาเป่าโมเดลของจีน เป็นแนวทาง”

ด้าน ดร.พีระพงศ์กล่าวว่า ปัญหาเดิมๆ ของสินค้าเอสเอ็มอีคือไม่มีตลาด จึงไม่มีเงินหมุนเวียน ซึ่งเป็นเรื่องที่วนไปวนมา ขณะที่โลกปัจจุบันมีความหลากหลายในรูปแบบที่ไม่สามารถจับทิศทางได้ ทฤษฎีเดิมๆ ที่เคยเรียนรู้กันว่าให้ผู้บริโภคได้มีรสนิยมที่ไม่เปลี่ยนแปลง เพื่อที่จะได้ผลิตสินค้าให้ตรงต่อความต้องการนั้นๆ ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัว

กำลังโหลดความคิดเห็น