xs
xsm
sm
md
lg

ล่มสลายทั้งบนฝั่ง-แพน้ำน่าน! อัตลักษณ์ชาวแพพิษณุโลก หลังโดนสั่งย้ายขึ้นบกขายสิทธิ์เช่าที่อยู่เป็นแถว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิษณุโลก - อัตลักษณ์เรือนแพสองฝั่งน่านเมืองสองแควล่มสลายอย่างสิ้นเชิง..หลังโดนสั่งย้ายขึ้นบกแลกค่ารื้อแพหลังละ 5 พัน สุดท้ายหลายรายขายสิทธิ์เช่าที่อยู่ปีละ 252 บาททิ้ง ส่วนชาวแพดั้งเดิมที่ไม่ยอมย้ายก็ถูกลากไปอยู่ไกลลิบ

กรณีเรือนแพสองฝั่งลำน้ำน่าน อัตลักษณ์ของพิษณุโลก-เมืองสองแคว จากเดิมที่เคยเรียงรายเป็นแถวแถบสะพานนเรศวร จนมีคำขวัญเมืองพิษณุโลกว่า “พระพุทธบาทงามเลิศ ถิ่นกำเนิดพระนเรศวร สองฝั่งน่านล้วนเรือนแพ หวานฉ่ำแท้กล้วยตาก ถ้ำและน้ำตกหลักตระการตา” แต่ปัจจุบันเริ่มเลือนหายไป ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์..เสียดายเรือนแพและวิถีชีวิตคู่เมืองสองแคว

เพราะขณะที่จังหวัดอื่นอยากมีเรือนแพก็ทำไม่ได้ แต่พิษณุโลกกลับย้ายเรือนแพขึ้นบกตั้งแต่ปี 2541 โดยจัดสรรที่ดินบริเวณบ้านคลองโคกช้าง หมู่ที่ 10 ต.อรัญญิก อ.เมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นที่ดินในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ให้เป็นที่อยู่อาศัยใหม่ โดยให้ชาวแพผ่อนชำระค่าก่อสร้างบ้านพักซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยเดือนละ 1,300 บาท เป็นระยะเวลา 15 ปี และจ่ายค่าเช่าที่ดิน อบจ.พิษณุโลก ปีละ 252 บาท

อย่างไรก็ตาม ชุมชนชาวแพที่ยอมย้ายขึ้นฝั่งไปอาศัยอยู่บริเวณบ้านคลองโคกช้าง ก็ทยอยขาย-เปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์บนที่ดินจัดสรรให้เช่า ให้กับบุคคลภายนอกมาสร้างเป็นหอพัก-อาคารพาณิชย์และที่อยู่อาศัยแทน แม้ว่าทาง อบจ.พิษณุโลก จะติดประกาศไว้ห้ามมิให้โอนสิทธิ์การเช่าอาคารสิ่งปลูกสร้างและที่ดินที่เช่าให้แก่บุคคลภายนอกก็ตาม (เว้นแต่กรณีตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม และห้ามดัดแปลงต่อเติมโดยมิได้รับอนุญาต)

นางสำลี คล้ายทิม อายุ 71 ปี อดีตชาวเรือนแพที่พักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 1000/73 บ้านคลองโคกช้าง ประกอบอาชีพรับซักรีดเสื้อผ้า กล่าวว่า ตนย้ายออกมาจากแพในลำน้ำน่านหน้าโรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี มาตั้งแต่ปี 2544 ได้รับเงินค่ารื้อย้ายหลังคาละ 5,000 บาท ซึ่งทางราชการอ้างว่าพวกเราชาวเรือนแพมีความเป็นอยู่สกปรกจึงให้ย้ายขึ้นบก แม้ความจริงมันก็มีอยู่บ้าง แต่ความสกปรกและกลิ่นเหม็นในน้ำน่านส่วนใหญ่มาจากท่อระบายน้ำของเทศบาลฯ ที่ปล่อยน้ำเสียลงหน้าแพมากกว่า เพราะมีของเสียประเภทไขมันไหลมาตามท่อ เหม็นกว่าของเสียที่ชาวแพที่อยู่กันมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เสียอีก แต่ที่ขึ้นบกก็เป็นความประสงค์ของทางการที่ต้องการให้ย้าย

“ที่จริงชีวิตเรือนแพสะดวกสบายมาก ไม่ร้อน ห้องน้ำก็มีถังแกลลอนอยู่ หากมีบันไดขึ้น-ลง ทั้งฝรั่ง ทั้งญี่ปุ่นเขาชอบเดินลงแพมาก น่าจะพัฒนาส่งเสริมการท่องเที่ยวของพิษณุโลกด้วยซ้ำ”

ส่วนชาวแพที่ไม่ยอมย้ายขึ้นฝั่งเพราะต้องการมีวิถีชีวิตเดิมๆ คือ ชอบหาปลาในแม่น้ำน่าน เช่น ดักข่าย ตกปลา ฯลฯ ก็ถูกสั่งให้ย้ายจุดจอดผูกโยงแพกับฝั่งห่างจากสถานที่เดิม

นายรัตนชัย ฤทธิ์ทอง หรือลุงหมู อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 100/42 ต.แพพุทธบูชา อ.เมืองพิษณุโลก หนึ่งในชาวแพที่ยังคงอยู่อาศัยในน้ำน่าน บอกว่า เราไม่อยากย้ายขึ้นไปอยู่บนบก เพราะครอบครัวทำมาหากินอยู่กับน้ำกับปลามาตลอด ถ้าให้ขึ้นไปอยู่บนบกจะไปทำมาหากินอะไร อีกทั้งที่ดินก็ไม่มีจะไปปลูกบ้านบนบก ไหนจะเงินที่ต้องนำมาปลูกสร้างบ้านก็ไม่มี ทั้งยังไม่มีเงินพอที่จะมาจ่ายค่าบ้านเป็นรายเดือน จึงตัดสินในอาศัยอยู่ที่แพนี้ต่อไป และยังคงทำอาชีพหาปลาไปขายที่ตลาดเพื่อเลี้ยงปากท้องของครอบครัว แต่ตนและครอบครัวชาวแพที่ไม่ยอมย้ายขึ้นฝั่ง ก็โดนย้ายมาจากหน้าโรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี มาอยู่ตรงวัดจันทร์ตะวันออก ที่จริงก็ไม่ได้อยากมาเลย เพราะที่เดิมที่เคยอยู่ก็สุขสบายอยู่แล้ว และอยู่มาเนิ่นนานหลายช่วงอายุคนจึงเกิดความผูกพัน กว่าที่ตนจะมาอยู่บริเวณนี้ โดนย้ายแพไปมาถึง 4 ครั้งแล้ว จึงกลัวว่าวันข้างหน้าจะโดนย้ายไปไหนอีกเหมือนกัน



กำลังโหลดความคิดเห็น