ศูนย์ข่าวศรีราชา- นักธุรกิจเมืองพัทยา ชี้ คสช. ผ่อนผันกฎหมายให้ดัดแปลงอาคารโรงแรมเถื่อนทั่วประเทศกว่า 2 หมื่นแห่งเข้าสู่ระบบภายใน 90 วัน ไม่กระทบต่อผู้ประกอบการตัวจริง แต่จะทำให้โรงแรมเถื่อนถูกตรวจสอบ ชี้เฉพาะพัทยา มีกว่า 70%
จากกรณีที่ คสช.ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ผ่อนผันกฎหมายผังเมืองและข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนเคลื่อนย้ายและใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยให้กิจการโรงแรมที่ยังไม่ได้รับอนุญาตแก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามมาตรฐานความปลอดภัย และให้มีถังดับเพลิงทุกชั้น รวมทั้งต้องยื่นเอกสารให้ท้องถิ่นตรวจสอบภายใน 90 วัน เพื่อให้แล้วเสร็จตามกำหนดภายในวันที่ 18 ส.ค.2564 หรือในอีก 2 ปีข้างหน้า หลังพบว่าปัจจุบันทั่วประเทศไทยมีโรงแรมที่ไม่ได้รับการอนุญาตกว่า 2 หมื่นแห่งนั้น
วันนี้ (14 มิ.ย.)ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง นายสินไชย วัฒนศาสตร์สาธร อดีตนายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา ในฐานะกรรมการบริหารเครือโรงแรมกลุ่มฟลิปเปอร์ กรุ๊ป พัทยา เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ซึ่งได้รับการเปิดเผยว่า การที่ คสช.ประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวน่าจะส่งผลดีมากกว่าผลเสีย โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองพัทยา ที่จากผลสำรวจพบว่ามีโรงแรมกว่า 2,000 แห่ง และมีโรงแรมที่ผิดกฎหมายรวมทั้งยังไม่ได้จดทะเบียนกิจการโรงแรมกว่า 70% ถือเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน
โดยการเปิดช่องให้ผู้ประกอบการโรงแรมที่มี 4 ประเภท คือ 1.มีห้องพักไม่เกิน 40 ห้อง 2.มีห้องพักและห้องอาหาร 3.มีห้องพัก ห้องอาหาร และห้องประชุม และ 4.มีครบตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่นอกกรอบการอนุญาตให้กลับเข้าสู่กรอบของกฎหมาย และให้ระยะเวลาการปรับปรุงและยื่นเอกสารแสดงต่อภาครัฐภายใน 90 วัน จึงถือเป็นเรื่องดีที่จะทำให้มาตรฐานด้านความปลอดภัย และการให้บริการของผู้ประกอบการโรงแรมดียิ่งขึ้น
อีกทั้งหากมีการยื่นเอกสารต่อรัฐ รัฐก็จะได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบความปลอดภัยด้านต่างๆ อยู่เป็นประจำ ซึ่งจะทำให้ลดปัญหาด้านความไม่ปลอดภัยลงได้
"สำหรับผู้ประกอบกิจการโรงแรมที่มีใบอนุญาตถูกกฎหมายของเมืองพัทยานั้น ส่วนตัวแล้วมองว่าคงไม่มีผลกระทบ และหากภาครัฐจริงจังในการจับกุมก็น่าจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวมากกว่า เนื่องจากปริมาณห้องพักอาจไม่สอดคล้องต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาพักผ่อนในแต่ละปีที่มีเป็นจำนวนมาก ขณะที่เรื่องของมาตรฐานห้องพัก การให้บริการ ความปลอดภัยและเพดานราคา เป็นเรื่องของผู้บริโภคที่จะตัดสินใจเลือกเองว่าจะใช้บริการที่พักในรูปแบบไหน อย่างไร"
นายสินไชย ยังเผยอีกว่า โดยส่วนตัวแล้วมองว่าการออกกฎหมายเพื่อให้มีการแก้ไขอาคารให้ถูกต้องเป็นเรื่องดี เพราะนอกจากจะสามารถกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นแล้ว ยังสร้างความเป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัยให้มากขึ้นด้วย