xs
xsm
sm
md
lg

ไข้เลือดออกที่อุบลฯ ตายแล้ว 9 คน ไทย-ลาว-เขมรป่วยกว่า 2,300 คน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อุบลราชธานี - นายแพทย์สาธารณสุขอุบลราชธานีระบุไข้เลือดออกระบาดหนักในรอบ 20 ปี เหตุสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศเปลี่ยน ดันยอดคนป่วยทั้งในจังหวัดและเพื่อนบ้านทะลักเข้ารักษาวันละ 70-90 คน ตายแล้ว 9 คน ป่วยสะสมกว่า 2,300 คน



นายแพทย์ สุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกของจังหวัด คาดการณ์ปีนี้จะระบาดหนักเหมือนปี 2542 หรือเมื่อ 20 ปีก่อน โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 10 มิถุนายน 2562 ป่วย 2,396 คน เสียชีวิตแล้ว 9 คน โดยรายล่าสุดเป็นชายชาวอำเภอวารินชำราบ อายุ 32 ปี ปัจจุบันยังมีผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวอยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆ กว่า 200 คน กลุ่มผู้ป่วยมากที่สุดอายุระหว่าง 5-14 ปี

ส่วนพื้นที่การระบาดพบครอบคลุมทั้ง 25 อำเภอ แต่ระบาดหนักในเขตอุบลราชธานีตอนใต้ ประกอบด้วยอำเภอน้ำขุ่น น้ำยืน บุณฑริก สิรินธร เดชอุดม และนาจะหลวย โดยอำเภอนาจะหลวยเป็นอำเภอที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดถึง 5 คน ขณะนี้มีการตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะคาดว่าในเดือนมิถุนายน จะเป็นช่วงที่มีการระบาดสูงที่สุด และจะเริ่มลดลงในช่วงเดือนถัดไป

ขณะที่นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัด สั่งการให้หน่วยงานด้านการปกครองท้องถิ่นทุกแห่งร่วมมือกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายสัปดาห์ละ 3 รอบเพื่อลดสถิติการป่วยและเสียชีวิตของประชาชน ขณะเดียวกัน นอกจากมีประชาชนชาวไทยป่วยเป็นโรคนี้แล้ว แต่ละวันยังมีประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งกัมพูชาและลาว ซึ่งป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกเดินทางข้ามแดนเข้ามาขอรับการรักษาตามหลักมนุษยธรรม

จึงเป็นภาระแก่โรงพยาบาลทุกแห่งของจังหวัดมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้เข้าขอรับการรักษาจนแน่นโรงพยาบาล แต่ยังสามารถรองรับได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเป็นโรงพยาบาลสนาม


ส่วนสาเหตุที่เกิดการระบาดของโรคอย่างหนัก นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานีกล่าวว่า เกิดจากหลายปัจจัย ทั้งสภาพแวดล้อม อากาศ และเป็นวงรอบของโรคที่จะกลับมาระบาดอย่างมากในรอบ 10-20 ปี โดยการระบาดรุนแรงครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2542 หรือเมื่อ 20 ปีก่อน

จึงขอความร่วมมือจากประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงช่วยกันใช้มาตรการ 5 ป. 2 ข. เพื่อไม่ให้ยุงลายใช้เป็นที่เพาะพันธุ์วางไข่ และช่วงนี้ควรนอนกางมุ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคกัด ส่วนผู้ที่มีอาการไข้สูง อาเจียน 1-2 วัน ควรรีบมาให้แพทย์ตรวจวิเคราะห์ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกหรือไม่ เพราะหากปล่อยไว้นานอาจทำให้เสียชีวิตได้

พร้อมขอความเห็นใจจากประชาชน หากมารับการตรวจในช่วงนี้อาจล่าช้ากว่าปกติ เพราะมีผู้ป่วยที่มีอาการป่วยเป็นไข้ โดยมีลักษณะน่าสงสัยเป็นโรคไข้เลือดออก มารับการตรวจคัดกรองอีก 5-10 เท่าของผู้ป่วยที่ตรวจพบติดเชื้อ จึงขอความเห็นใจจากประชาชนผู้ใช้บริการด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น