xs
xsm
sm
md
lg

ส่องลมหายใจ “เรือนแพอัตลักษณ์พิษณุโลก” นับวันยิ่งเลือนหาย แถมท่อน้ำทิ้งโผล่สลอนริมฝั่งน่าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิษณุโลก - ส่องวิถีชุมชน “สองฝั่งน่านล้วนเรือนแพ” รอวันเลือนหาย..คงเหลือแต่แพธุรกิจ อัตลักษณ์น้ำน่านเมืองสองแควเริ่มจาง แถมท่อน้ำทิ้งจากอาคารใหญ่โผล่ริมฝั่งสลอน


ในอดีต “เรือนแพพิษณุโลก” ถือเป็นอัตลักษณ์แห่งเมืองสองแคว จนปรากฏในคำขวัญของเมือง “พระพุทธชินราชงามเลิศ ถิ่นกำเนิดพระนเรศวร สองฝั่งน่านล้วนเรือนแพ หวานฉ่ำแท้กล้วยตาก ถ้ำและน้ำตกหลากตระการ..” แต่ปัจจุบันสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า..สองฝั่งน่านล้วนเรือนแพ..เหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ยังคงมีให้เห็น ส่วนใหญ่เป็นแพร้านอาหาร และธุรกิจอื่นๆ

ลมหายใจเรือนแพพิษณุโลกเริ่มแผ่วเบาลงต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2541-2542 ที่จังหวัดพิษณุโลกอ้างเหตุผลย้ายชุมชนชาวแพขึ้นฝั่งบริเวณโคกช้าง ต.อรัญญิก อ.เมืองพิษณุโลก เพราะความสกปรก เนื่องจากมีการขับถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ลงในแม่น้ำน่าน แบบไม่สามารถแก้ไขได้ นอกจากมีเรือดูดสิ่งปฏิกูล แต่ในความเป็นจริงคงปฏิบัติกันไม่ได้

ประกอบกับห้ามไม่ให้เพิ่มจำนวนแพ กล่าวคือ ห้ามขอบ้านเลขที่เพิ่มจากที่มีอยู่ 100 เรือนเศษในปัจจุบัน ทำให้ชุมชนชาวแพน้ำน่านเมืองสองแคว..วันนี้เหลืออยู่เพียงน้อยนิดอยู่แถบท้ายน้ำน่านด้านทิศใต้เท่านั้น ซึ่งคงไม่ใช่เอกลักษณ์ของเมืองสองแควอีกต่อไป แม้ว่าธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สาขาพิษณุโลก จะอนุมัติสินเชื่อให้ชาวแพได้ปรับปรุงเรือนแพของตัวเองให้มีความสวยงาม แต่ก็ไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาตราตรึงได้ดังเดิม

และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วิถีชีวิตชุมชนชาวเรือนแพสองฝั่งลำน้ำน่านของเมืองพิษณุโลกก็ได้เลือนหายไปโดยไม่รู้ตัว ถูกแทนที่ด้วยแพธุรกิจ แพร้านอาหาร เรียงรายอยู่ริมฝั่งน้ำน่านเขตเทศบาลนครพิษณุโลก ท่ามกลางท่อระบายน้ำทิ้งจากอาคารสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่บางแห่งที่ต่อตรงสู่แม่น้ำน่าน

ว่ากันว่าขณะนี้มีท่อน้ำทิ้งจากใจกลางเมืองฝั่งตะวันออกลงน้ำน่านมากกว่า 5-6 แห่ง ฝั่งตะวันตกอีกประมาณ 3 แห่ง ส่วนน้ำที่ไหลจากท่อน้ำทิ้งเหล่านี้จะผ่านการบำบัดก่อนลงสู่น้ำน่านหรือไม่นั้น ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ามีหน่วยงานใดดูแลและตรวจสอบจริงๆ จังๆ และถือเป็นข้อสงสัยของชาวพิษณุโลกมานานหลายปี

กำลังโหลดความคิดเห็น