xs
xsm
sm
md
lg

มทร.รัตนโกสินทร์สร้างชื่อ คว้า 2 รางวัล แข่งขันหุ่นยนต์ TPA PLC COMPETITION 2019 "ROBO HAVESTER"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นครปฐม - มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ คว้า 2 รางวัลการแข่งขันหุ่นยนต์ TPA PLC COMPETITION 2019 "ROBO HAVESTER" เตรียมพัฒนาต่อยอดสร้างบัณฑิต สาขา Robot และ Automation ส่งตลาดอุตสาหกรรมอย่างมีคุณภาพในอนาคต

นายกิตติพงษ์ พุ่มโภชนา อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชมงคลรัตนโกสินทร์ เผยว่า เมื่อวันที่ 1-2 มิถุนายน 2562 สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท.ได้จัดการแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2562 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยจัดขึ้น ณ ห้องไดมอนด์ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าเซียร์รังสิต และได้ปิดฉากลงเรียบร้อยแล้ว

โดยทีม iSuccess จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์สามารถคว้า 2 รางวัลจากการแข่งขัน ISuccess เป็นทีมนักศึกษาจากสาขาวิชาวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.รัตนโกสินทร์ สามารถคว้ารางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ในการแข่งขันหุ่นยนต์รายการ TPA PLC COMPETITION 2019 “ROBO HAVESTER” หรือหุ่นยนต์เก็บผลไม้ เป็นการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์สำหรับเอื้อประโยชน์ในการทำเกษตรกรรม

สมาชิกในทีม iSuccess ประกอบไปด้วย นายธนวัฒน์ มีทอง นายธนัช อนันตภักดิ์ นายวรัณชัย มาชัย นายอรรถพงศ์ พาณิชสรรค์ นายชัชพล บัวแก้ว และนายรัชชานนท์ รำมะนู โดยมีอาจารย์กิตติพงษ์ พุ่มโภชนา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เป็นที่ปรึกษา การแข่งขันในครั้งนี้มีสถาบันการศึกษาทั่วประเทศส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันเป็นจำนวนมาก โดยการแข่งขันจะแบ่งออกเป็นรอบๆ รอบแรก 50 ทีม จาก 30 สถาบันการศึกษา คัดเข้าไปแข่งขันช่วงที่ 2 เหลือเพียง 16 ทีม ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ได้นำผลงานหุ่นยนต์เข้าร่วมชิงชัยด้วย

อาจารย์กิตติพงษ์ พุ่มโภชนา กล่าวว่า การเตรียมตัวและการวางแผนสำหรับการแข่งขันในครั้งนี้ คือ การแข่งขันแบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยช่วงที่ 1 เป็นการแข่งขันการเขียนโปรแกรม PLC (Program Logic Controller) จะมีทีมแข่งขันทั้งหมด 50 ทีม และคัดให้เหลือ 16 ทีม ช่วงที่ 2 เป็นการแข่งขันการประดิษฐ์หุ่นยนต์เก็บผลมะม่วง ทีมที่ผ่านรอบแรก 16 ทีม จะมีเวลาประดิษฐ์หุ่นยนต์ประมาณ 3 เดือนเศษ ก่อนถึงวันแข่งขัน เราเตรียมทีมโดยวางตัวนักศึกษา คือก่อนที่จะมีการแข่งขัน จะมีการเตรียมความพร้อมโดยให้นักศึกษาได้เข้าร่วมงานที่เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรม plc ก่อนเพื่อเป็นการเพิ่มประสบการณ์ และใช้กลุ่มนักศึกษาในชั้นปีที่ 1 และปีที่ 2 ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาที่มีความพร้อมในเรื่องเวลา แต่ติดปัญหาในเรื่องประสบการณ์และวิชาการ จึงต้องอาศัยการอบรมพิเศษ และให้เข้าแข่งขันในรายการต่างๆ ที่ใกล้เคียงมาก่อนเพื่อเตรียมความพร้อม

ส่วนกลยุทธ์ที่ใช้ในการแข่งขัน เราออกแบบให้หุ่นยนต์ทำงานได้ 2 แบบ ทั้งแบบ ออโต้ 100% โดยอาศัยกล้อง machine vision ช่วยสร้างค่าตำแหน่งให้ในการสั่งให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ไปยังเป้าหมาย และอีกวิธี คือ กึ่งออโต้ วิธีนี้จะอาศัยช่วงการ set up ทำให้หุ่นยนต์จดจำตำแหน่งลูกมะม่วง โดยการกำหนดจุด (mark) วิธีนี้จะชัวร์ แม่นยำ แต่ใช้เวลาในการ mark นาน เสี่ยงในกรณีที่หุ่นยนต์มีปัญหา ซึ่งในการแข่งขันทีมพยายามใช้ทั้ง 2 วิธี เพื่อป้องกันกรณีโจทย์มีการปรับเปลี่ยน

ส่วนเทคนิคพิเศษที่ทำให้ทีมได้รางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม น่าจะเป็นการทำงาน แบบออโต้ 100% ที่มีเพียงทีมเดียวที่ใช้กล้องในการสั่งการให้หุ่นยนต์ทำการเก็บผลมะม่วงได้ อีกอย่างที่ทางกรรมการชื่นชมคือ การออกแบบและการเก็บสายไฟ และชิ้นงานได้เรียบร้อย

นายกิตติพงษ์ พุ่มโภชนา กล่าวอีกว่า สำหรับนักศึกษาจะได้ทักษะ ประสบการณ์ งานด้าน Automation รวมทั้งใบประกาศ ซึ่งจะมีประโยชน์ในการสมัครงานในอนาคต สำหรับอาจารย์ได้เครือข่าย ทั้งสถาบันการศึกษา และภาคเอกชน รวมถึงได้เพิ่มพูนทักษะด้าน robot และ automation มากขึ้น และที่สำคัญไปกว่านั้น มหาวิทยาลัยได้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในด้าน robot และ automation ในแวดวงการศึกษา และแวดวงอุตสาหกรรม บริษัทต่างๆ จะมีความเชื่อมั่นในตัวนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมากยิ่งขึ้นในการรับเข้าทำงาน

"ผมคิดว่าผลงานนี้จะสามารถนำไปต่อยอดได้ เนื่องจากการแข่งขันเป็นการแข่งขันเกี่ยวกับการออกแบบหุ่นยนต์ โดยใช้อุปกรณ์อุตสาหกรรมทำให้สามารถต่อยอดได้หลากหลาย เช่น สามารถผลิตและพัฒนาเป็นหุ่นยนต์ด้านการเกษตร ที่สามารถใช้งานได้จริง รวมทั้งสามารถต่อยอดเป็นงานวิจัย และพัฒนานำองค์ความรู้ไปสร้างนวัตกรรมด้านหุ่นยนต์ และด้านการเกษตร หรือหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้งานได้จริง"



กำลังโหลดความคิดเห็น