xs
xsm
sm
md
lg

สสจ.เชียงใหม่เตือนระวังกินเห็ดพิษช่วงหน้าฝน เผยปีนี้ตายแล้ว 1 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สสจ.เชียงใหม่ เตือนภัยเห็ดพิษช่วงหน้าฝน เสี่ยงอันตรายถึงตาย ย้ำรับประทานเฉพาะเห็ดชนิดที่รู้จักเท่านั้น ปฐมพยาบาลเบื้องต้นต้องทำให้อาเจียนออกมามากที่สุด เผยปีนี้พบผู้ป่วยและเสียชีวิตแล้ว 1 ราย

วันนี้ (4 มิ.ย. 62) ดร.ทรงยศ คำชัย นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ที่เป็นช่วงต้นฤดูฝนทำให้เริ่มมีเห็ดชนิดต่างๆ ออกดอกเป็นจำนวนมาก และเป็นที่นิยมของประชาชนในการเก็บมาบริโภคด้วยการปรุงเป็นอาหารประเภทต่างๆ จึงอยากแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอย่างมากในการบริโภคเห็ด เนื่องจากอาจจะมีการนำเห็ดที่พิษไปบริโภคได้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และมีอันตรายร้ายแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิต ทั้งนี้ย้ำว่าให้เลือกบริโภคเฉพาะเห็ดที่รู้จักจริงๆ เท่านั้น ไม่ว่าจะโดยการเก็บหรือซื้อมารับประทานก็ตาม หากไม่แน่ใจห้ามรับประทานอย่างเด็ดขาด และต้องตรวจสอบแหล่งที่มาของเห็ดให้แน่ชัดด้วย

สำหรับเห็ดนั้นเป็นสมุนไพรฤทธิ์เย็น มีสรรพคุณแก้ไข้ แก้ช้ำใน บำรุงร่างกาย และช่วยให้เจริญอาหาร คุณสมบัติเด่นของเห็ด คือ มีไฟเบอร์สูง และแคลอรีต่ำ, มีปริมาณโปรตีนสูงร้อยละ 5-34, ไขมันต่ำเพียงร้อยละ 1-8 ของน้ำหนักแห้ง 100 กรัม, แร่ธาตุ และวิตามินสูง โดยตัวอย่างเห็ดป่าที่กินได้และรู้จักกันดีในประเทศไทย เช่น เห็ดระโงกขาว เห็ดโคนเห็ดขอน และเห็ดเผาะ เป็นต้น แม้เห็ดส่วนใหญ่จะรับประทานได้และมีประโยชน์ แต่เห็ดบางชนิดมีพิษร้ายแรง ทําลายเซลล์ของตับ, ไต, ระบบทางเดินอาหาร, ระบบเลือด, ระบบหายใจ, ระบบสมอง และทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ความตายได้ อาการที่แสดงหลังจากได้รับสารพิษ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ท้องร่วง ความรุนแรงขึ้นกับเพศ อายุ และปริมาณในการรับประทาน

ทั้งนี้ การปฐมพยาบาลในกรณีที่รับประทานเห็ดพิษเข้าไปนั้น ดร.ทรงยศบอกว่า การปฐมพยาบาลเบื้องต้นต้องทำให้อาเจียนออกมาให้ได้มากที่สุด และให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ ห้ามดื่มแอลกอฮอล์หลังจากบริโภคเห็ดป่าโดยเด็ดขาด เพราะมีผลต่อระบบประสาท อาจทำให้พิษกระจายรวดเร็วขึ้นถึงขั้นหมดสติและเสียชีวิตได้ ขณะที่จากสถิติผู้ป่วยจากการรับประทานเห็ดพิษของจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เดือน 1 ม.ค. - 31 พ.ค. 62 พบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดพิษแล้ว 1 ราย ส่วนในปี 2561 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยจำนวน 26 ราย แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
กำลังโหลดความคิดเห็น