xs
xsm
sm
md
lg

รพ.พุทธฯ เตรียมย้ายผู้ป่วยเข้า “ศูนย์ฯ พุทธชินะราชา” เดือนนี้ ปลายปีเปิดอีกตึกรับผู้ป่วยเหนือล่างล้นทะลัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิษณุโลก - รพ.พุทธฯ เตรียมแผนย้ายผู้ป่วยล็อตแรกเข้า “ศูนย์การแพทย์พุทธชินะราชา” เดือนนี้ ปลายปี 62 เปิดอีกตึกรองรับผู้ป่วยเหนือล่าง หลังสถิติคนไข้ล้นทะลักจาก 2.5 ล้านเป็นกว่า 5 ล้านคนต่อปี
นายแพทย์ ศิวฤทธิ์ รัศมีจันทร์ ประธานมูลนิธิโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก (ผอ.รพ.พุทธชินราช ปี 56-60)
นายแพทย์ ศิวฤทธิ์ รัศมีจันทร์ ประธานมูลนิธิโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก (ผอ.รพ.พุทธชินราช ปี 56-60) เปิดเผยว่า โรงพยาบาลพุทธชินราช ขนาด 1,100 เตียง รับผู้ป่วยทั้งพิษณุโลก และจังหวัดใกล้เคียง คือ ตาก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ พิจิตร และสุโขทัย ทำให้แออัด

แม้จะขยายการให้บริการผู้เจ็บป่วยเล็กน้อยไปที่โรงพยาบาลรังสี เขตเทศบาลนครพิษณุโลก ซึ่งเป็นพื้นที่เช่าของโรงพยาบาลพุทธฯ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ แต่ละวันผู้ป่วยรอคิวนาน สาเหตุหลักๆ คือ พื้นที่ให้บริการของโรงพยาบาลไม่เพียงพอต่อปริมาณคนไข้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเดิมให้บริการคนไข้ประมาณ 2.5 ล้านคน เป็นเกือบ 5 ล้านคนต่อปี

ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2560 -2562 กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรเงิน 1,000 ล้านบาทแก่โรงพยาบาลพุทธชินราช เพื่อก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์การแพทย์ จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ภาคเหนือตอนล่างขึ้นบนพื้นที่ 155 ไร่ ติดกับโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ต.ท่าทอง อ.เมืองพิษณุโลก

หากเสร็จสมบูรณ์และติดตั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตามแผนจะย้ายเตียงไปอยู่ในสถานที่แห่งใหม่จำนวน 300 เตียง และต่อไปต้องย้ายให้ครบ 400-500 เตียง ก่อตั้งเป็นศูนย์การแพทย์ “พุทธชินะราชา” หรือศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ภาคเหนือตอนล่าง ในสังกัดโรงพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลก

ล่าสุดได้สร้างอาคารเสร็จสมบูรณ์แล้ว 2 หลัง อาคารหลังที่ 1 พร้อมที่จะเปิดบริการแก่ผู้มาตรวจรักษาภายในเดือนมิถุนายน 2562 ส่วนอาคารหลังที่ 2 เป็นอาคารขนาดใหญ่สามารถรับรองผู้ป่วยได้จำนวนมาก จะสามารถเปิดบริการได้ภายในปลายปี 2562

“ระหว่างนี้กำลังติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ จะทำให้ชาวจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียงในภาคเหนือตอนล่างจะต้องไปใช้สถานที่บริการแห่งใหม่ เพราะสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่จอดรถยนต์”

สำหรับอาคารหลังที่ 3 อยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง หากสร้างแล้วเสร็จจะสามารถรองรับผู้ป่วยอีกมาก มีห้องผ่าตัดกว่า 10 ห้อง การให้บริการผู้ป่วยใน ประกอบด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เครื่องสวนหัวใจ ห้องไอซียู (ICU) โรคประสาท โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และทารกแรกเกิด
กำลังโหลดความคิดเห็น