xs
xsm
sm
md
lg

“สนธยา” โยกงบเก่า 665 ล้านโครงการอีอีซี คลอดระบบระบายน้ำเร่งด่วนรับมือฤดูฝน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์ข่าวศรีราชา - “สนธยา” เดินหน้าโยกงบเก่า 665 ล้านบาท ในโครงการอีอีซี. คลอดระบบระบายน้ำแก้ปัญหาเร่งด่วนน้ำท่วมเมืองพัทยา พร้อมจัดทำระบบบ่อพักสถานีสูบรับน้ำฝั่งตะวันออกที่ไหลลงคลองสาธารณะ ป้องกันน้ำไหลบ่าเข้าพื้นที่ท่องเที่ยว สั่งทุกภาคส่วนรับมือฤดูฝน

วันนี้ (1 มิ.ย.) นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ได้ออกมาเปิดเผยถึงมาตรการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองพัทยา ซึ่งเป็นภารกิจเร่งด่วน ในฐานะที่ถูกวางให้เป็นศูนย์กลางของโครงการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ว่า จะต้องใช้วิธีผสมผสานระหว่างวิธีทางวิศวกรรม ผังเมือง และภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น หากรู้ทิศทางการไหลของน้ำว่ามาจากทางใดก็ต้องหาทางปิดทางน้ำ หรือการให้น้ำสามารถไหลได้ตามธรรมชาติ ซึ่งหากมีการบริหารจัดการที่ดีและสามารถระบายน้ำได้อย่างทันท่วงทีก็จะทำให้ปัญหาน้ำท่วมในเมืองพัทยาลดลงได้

“โดยเฉพาะเมืองพัทยา ซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำที่รับน้ำโดยตรงจากพื้นที่เชื่อมโยงหลายแห่งจนทำให้มีจำนวนน้ำมหาศาลไหลบ่าเข้าสู่พื้นที่จนทำให้การระบายเป็นไปอย่างเชื่องช้า และจะต้องมีท่อหลายขนาดครอบคลุมร้อยละ 75 ของพื้นที่ ส่วนทางระบายน้ำธรรมชาติ ทั้งคลองนาเกลือ คลองหนองใหญ่ คลองนกยาง คลองเสือแผ้ว คลองพัทยาใต้ และคลองกระทิงราย ที่ระบายน้ำลงสู่ทะเลขณะนี้พบปัญหาการบุกรุก ตื้นเขิน และคับแคบ ส่วนที่มีสถานีสูบเพื่อป้องกันน้ำท่วมถึง 6 แห่ง รวมทั้งอ่างชะลอน้ำหรือแก้มลิง ริมถนนเลียบทางรถไฟฝั่งตะวันออกขนาดพื้นที่ 21 ไร่ ก็ยังไม่เพียงพอต่อการรับน้ำที่หลั่งไหลจากทุกทิศทาง”

นายสนธยา ยังเผยอีกว่า ปัญหาดังกล่าวถือเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมขัง แต่ด้วยระบบระบายของเมืองพัทยาที่สร้างไว้นาน และไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับน้ำของพื้นที่อื่นๆ จึงทำให้มวลน้ำมีปริมาณมากกว่าท่อระบายที่สามารถรองรับได้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา เมืองพัทยา ได้ออกแบบระบบระบายน้ำเพื่อรองรับมวลน้ำจากฝั่งตะวันออกเพื่อผันลงสู่คลองธรรมชาติ ลดปริมาณน้ำที่ไหลบ่าเข้าสู่เมืองพัทยา โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการอีอีซี จำนวน 665 ล้านบาท และจะต้องมีการก่อสร้างบ่อสูบน้ำขนาด 11,000 ลบ.ม.บริเวณซอยเขาน้อย พร้อมจัดซื้อปั๊มแรงดันสูบน้ำ จำนวน 8 เครื่อง ขนาด 1.5 ลบ.ม.ต่อวินาที รวมทั้งท่อส่งแรงดันแบบ HDPE ความยาว 1,560 เมตร วางไปตามแนวถนนเลียบทางรถไฟ เพื่อรองรับมวลน้ำจากพื้นที่บริเวณซอยเขาตาโล และเขาน้อยบางส่วนที่มาจากเทศ บาลเมืองหนองปรือ

ก่อนผันน้ำไปปล่อยในคลองนาเกลือ และเสือแผ้ว ก่อนปล่อยลงสู่ทะเล ที่ได้มีการจัดทำแผนขยายคลองและขุดดินเพื่อลดความตื้นเขินให้รองรับปริมาณน้ำได้มากขึ้น แต่ปรากฏว่า ในยุคที่ผ่านมากลับมีการวางแผนระบบระบายน้ำใหม่ พร้อมยกเลิกโครงการดังกล่าว เพื่อแก้ไขแบบไปจัดทำระบบระบายน้ำที่เป็นลักษณะอุโมงค์น้ำขนาดใหญ่จากฝั่งตะวันออก ลอดถนนพัทยากลางลงสู่ทะเล จึงทำให้การใช้งบไม่ทันต่อห้วงเวลา จนถูกตัดงบประมาณไปอย่างน่าเสียดาย

“ในฐานะนายกเมืองพัทยา จึงได้เร่งประสานไปยังกระทรวงมหาดไทยถึงความจำเป็นของระบบดังกล่าว กระทั่งปัจจุบันรัฐบาลได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง เข้ามาดำเนินการต่อ และให้เมืองพัทยา เข้าร่วมในการจัดทำโครงการและมีแผนที่จะเริ่มทำแล้วภายในปี 2562 นี้ เหลือเพียงการรอนำเสนอโครงการต่อ ครม.เพื่ออนุมัติ ซึ่งหากดำเนินการสำเร็จก็จะทำให้ระบบดังกล่าวสามารถกักน้ำและรองรับปริมาณน้ำจากฝั่งตะวันออกที่จะไหลบ่าเข้าสู่เมืองพัทยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

และเมื่อรวมกับแผนแม่บทในปัจจุบันที่รัฐบาลมอบหมายให้กรมโยธาธิและผังเมือง วางแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำเสียทั้งระบบ ภายใต้งบประมาณกว่า 2.5 หมื่นล้าน ที่อาจจะออกมาในรูปแบบของงบประมาณจากท้องถิ่นอื่นๆ เช่นการร่วมทุน ก็จะทำให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป

นายสนธยา ยังกล่าวถึงแผนรองรับสถานการณ์น้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝนว่า ขณะนี้ เมืองพัทยา ได้เรียกประชุมทุกหน่วยงานเพื่อเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่และจะเร่งทำการขุดลอกคูคลอง ทำความสะอาดท่อระบายน้ำ โดยได้รับความร่วมมือจากกรมราชทัณฑ์ และการจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่พร้อมกระสอบทรายให้บริการประชาชน และจัดเตรียมชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วเพื่อช่วยด้านการระบายน้ำ รวมทั้งซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำในสถานีสูบน้ำให้มีประสิทธิภาพ และใช้งานได้ตลอดเวลา

รวมทั้งเร่งแก้ไขปัญหาคูคลองสาธารณะที่ตื้นเขิน คับแคบ โดยเร่งรัดการบังคับใช้กฎหมายในส่วนขอผู้บุกรุกลำน้ำจนทำให้น้ำไหลไม่สะดวก เช่น คลองปึกพลับ ที่ปัจจุบันแม้จะทำการรื้อถอนอาคารรุกล้ำไปแล้วบางส่วน แต่ก็จะมีการขยายแนวคลองให้กว้างขึ้นจากเดิมจาก 1 เมตร เป็น 4 เมตร เพื่อให้น้ำไหลสะดวกมากขึ้น ส่วนมวลน้ำที่ไหลบ่าลงสู่ชายหาดก็จะบูรณาการร่วมกับกรมเจ้าท่าในการเฝ้าระวังและแก้ไขอย่างเร่งด่วนหากเกิดปัญหา

“ขณะนี้มีปัญหาหลายอย่างที่ต้องเร่งรัดดำเนินการ ซึ่งล่าสุด ได้นำเสนอ 10 โครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ของเมืองพัทยา โดยเฉพาะพื้นที่หลัก จำนวน 20 จุด เช่น ซอยหนองเกตุใหญ่ ตลาดเก่านาเกลือ คลองปึกพลับ ซอยหนองใหญ่ ถนนสุขุมวิท (พัทยาใต้) ซอยบัวขาว ถนนเลียบทางรถไฟ ตลาดน้ำ 4 ภาค ถนนพัทยาสาย 3 ถนนสายชายหาด ซอยแตงโม ซอยไดอะน่าอินน์ และวัดธรรมสามัคคี เป็นต้น ซึ่งโครงการเหล่านี้ สภาเมืองพัทยา เห็นชอบถึงความจำเป็นและอนุมัติงบประมาณไปแล้ว จำนวน 218 ล้านบาท แต่ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการใหญ่ที่ต้องใช้ระยะเวลาทำงานนานหลายเดือนจนถึง 1 ปี”

โดยจะต้องเร่งบางโครงการ ทั้งการจัดซื้อเครื่องสูบน้ำขนาด 800, 1,000 และ 1,800 ลบ.ม.ต่อ ชม. รวมทั้งเครื่องผลักดันน้ำลงทะเลเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังในช่วงทะเลหนุน ซึ่งแม้จะยังคงมีปัญหาน้ำท่วมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ระหว่างรอการจัดทำโครงการหลักต่างๆ แต่ยืนยันว่าฤดูฝนนี้ปัญหาน้ำท่วมขังแม้จะเกิดขึ้น แต่จะต้องมีระยะเวลาการท่วมขังที่สั้นลงและระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว เพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น








กำลังโหลดความคิดเห็น