xs
xsm
sm
md
lg

นศ.กศน.อุบลฯ เจ๋ง! ผลิตเครื่องหยอดเมล็ดข้าวบังคับด้วยรีโมตคอนโทรลจากระยะไกล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อุบลราชธานี - ชาวนาไม่ต้องหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินอีกต่อไปแล้ว หลัง กศน.น้ำยืนออกแบบเครื่องหยอดข้าวบังคับด้วยรีโมตคอนโทรลพลังงานแสงอาทิตย์ ช่วยชาวนาลดการใช้แรงงาน ประหยัดเวลา แต่ผลผลิตได้มากขึ้น เหมาะกับชาวนาที่อายุเริ่มมากขึ้นด้วย



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่แปลงนาข้าวบ้านคำข่า ต.สีวิเชียร อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี นายธฤติ ประสานสอน ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมสาธิตการใช้เครื่องหยอดข้าวควบคุมการทำงานด้วยรีโมตคอนโทรลจากระยะไกล และใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นตัวจ่ายกระแสไฟฟ้า โดยใช้แผงโซลาร์เซลล์ขนาด 360 วัตต์เป็นตัวสร้างพลังงานไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่ในตัวรถ ช่วยลดการสิ้นเปลืองของน้ำมันเชื้อเพลิง แถมน้ำหนักเบา สามารถเคลื่อนย้ายไปตามแปลงนาต่างๆ ได้อย่างสบาย

สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เครื่องดังกล่าวนี้จะลดการใช้แรงงานคน โดยเฉพาะชาวนาที่มีอายุมากขึ้น ซึ่งเรี่ยวแรงเริ่มถดถอย สามารถควบคุมการทำงานอยู่ในที่ร่มจากระยะไกลได้อย่างสะดวกสบาย และประหยัดเวลาในการทำนา แต่ได้ผลผลิตเต็มที่กว่าเดิม

นายธฤติ ประสานสอน ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดอุบลราชธานี
ด้านนายอนุชิต ทุมมากร อายุ 55 ปี ครู กศน.ตำบลสีวิเชียร อ.น้ำยืน อุบลราชธานี ซึ่งร่วมกับนักศึกษาคิดประดิษฐ์เครื่องหยอดเมล็ดข้าวรีโมตพลังงานแสงอาทิตย์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นการคิดประดิษฐ์เครื่องหยอดข้าวรีโมตคอนโทรลพลังแสงอาทิตย์ ต้องการช่วยเหลือชาวนา ซึ่งปัจจุบันชาวนามีจำนวนน้อยลง

ประกอบกับชาวนาส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เพราะลูกหลานเริ่มหันไปประกอบอาชีพอื่น ด้วยมองว่าการทำนาต้องตากแดดทั้งวัน และใช้เวลาในการทำนาเป็นเวลานาน ส่วนผลผลิตก็ได้ไม่แน่นอนขึ้นกับสภาพอากาศและปัจจัยอื่นๆ อีกด้วย

นายอนุชิต ผู้ประดิษฐ์เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวยังกล่าวต่อว่า ยิ่งปัจจุบันโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน ทำให้สภาพอากาศประเทศไทยได้รับผลกระทบมีอากาศร้อนจัดมากยิ่งขึ้น เมื่อชาวนาที่เป็นผู้สูงอายุ ต้องเดินหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว หรือหยอดเมล็ดข้าวลงแปลงนาเป็นเวลานานๆ จะเกิดอาการเมื่อยล้า และต้องทนกับสภาพแดดที่ร้อนจัด ทำให้เจ็บป่วยไม่สบายได้ง่าย

ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอน้ำยืนจึงร่วมกับนักศึกษาคิดออกแบบและคิดค้นเครื่องหยอดเมล็ดข้าวรีโมตคอนโทรลพลังแสงอาทิตย์ให้ชาวนานำไปใช้ประโยชน์ ลดขั้นตอนและเวลาในการทำงานให้รวดเร็วขึ้น รวมทั้งชาวนาสามารถทำงานในที่ร่มด้วยการควบคุมผ่านรีโมตคอนโทรลจากระยะไกล ให้สมกับเป็นชาวนายุคไทยแลนด์ 4.0

โดยพื้นที่ปลูกข้าว 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวเติมเข้าไปในช่องที่เตรียมไว้จำนวน 5 ช่อง ราว 6 กิโลกรัม เมื่อรถเริ่มแล่นล้อของเครื่องปล่อยเมล็ดข้าวที่อยู่ด้านหลังก็หมุนตาม และเริ่มทำการปล่อยเมล็ดพันธุ์ทิ้งระยะห่างกันประมาณ 25 เซนติเมตรต่อหลุม โดยหลุมหนึ่งจะมีเมล็ดพันธุ์ข้าวร่วงหล่นลงไป 5-6 เมล็ด ใช้เวลาในการหยอดเพียง 20 นาที ซึ่งหากเป็นการใช้แรงคนแบบเดิมต้องใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง ส่วนราคาของเครื่องนี้ มีต้นทุนประมาณ 25,000 บาทเท่านั้น

ขณะที่นายถาวร บุญล้อม อายุ 55 ปี ชาวนาบ้านคำข่า ตำบลสีวิเชียร อำเภอน้ำยืน ซึ่งได้ทดลองใช้เครื่องหยอดเมล็ดข้าวพลังงานแสงอาทิตย์บังคับจากระยะไกล ระบุว่า เครื่องสามารถใช้งานได้จริง และดีกว่าการใช้แรงงานคน เพราะช่วยประหยัดทั้งเวลาและแรงงานคนจากเดิมต้องใช้ 2-3 คน แต่หากใช้เครื่องนี้ใช้แค่คนเดียวก็ทำงานได้ รวมทั้งชาวนายังสามารถทำงานในที่ร่มได้ด้วย ซึ่งเป็นผลดีต่อชาวนาสูงอายุแบบตนเป็นอย่างมาก
นายอนุชิต ทุมมากร อายุ 55 ปี ครู กศน.ตำบลสีวิเชียร อ.น้ำยืน
ด้านนายธฤติ ประสานสอน ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งร่วมดูการสาธิตการทำงานของเครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์บังคับด้วยรีโมตคอนโทรล เป็นการคิดค้นของอาจารย์และนักศึกษาตามระบบสเต็มศึกษา เพื่อให้นักศึกษานำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในชีวิตประจำวัน

สำหรับ กศน.อำเภอน้ำยืน ไม่ได้มีแค่เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเครื่องสีข้าวอัตโนมัติและโครงงานต่างๆ เพื่อช่วยพัฒนาการทำการเกษตรให้ง่าย ประหยัด และสะดวกรวดเร็ว เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศที่เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งตนยินดีสนับสนุนให้มีการพัฒนาต่อยอดสิ่งประดิษฐ์จนนำไปสู่การจดลิขสิทธิ์ และผลิตนำออกจำหน่ายให้แก่เกษตรกรทั่วไป เพื่อช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรเพื่อประโยชน์ของประเทศด้วย

เกษตรกรที่สนใจการทำงานของเครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวควบคุมด้วยรีโมตคอนโทรลจากระยะไกล สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี หมายเลขโทรศัพท์ 0-4537-1374


กำลังโหลดความคิดเห็น