xs
xsm
sm
md
lg

รับไม่ไหวปัญหาขยะเกาะล้าน ทำเมืองพัทยา เร่งขอความเห็นชอบให้เอกชนทำโครงการกำจัด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์ข่าวศรีราชา - รับไม่ไหว..ขยะล้นเกาะล้านกว่า 5 หมื่นตัน เมืองพัทยา เร่งเสนอสภาฯ ขอรับความเห็นชอบมอบหมายให้เอกชนเข้าลงทุนในโครงการกำจัดขยะก่อนนำเรื่องเสนอกระทรวงมหาดไทย ด้านสมาชิกสภาฯติงควรศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ


วันนี้ ( 28 พ.ค.) นายณัฐพล ธีรวุฒิวรเวทย์ นักบริหารงานทั่วไปรักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำงานเมืองพัทยา แขวงเกาะล้าน ได้รับมอบหมายจากฝ่ายบริหาร ให้นำเสนอญัตติขอรับความเห็นชอบจากสภาเมืองพัทยา ในการประชุมสมัยสามัญ สมัยที่ 2 ครั้งที่ 1 ณ ศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี เพื่อมอบหมายให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนและดำเนินการกำจัดขยะมูลฝอยบนพื้นที่เกาะล้าน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามผลการศึกษาและออกแบบก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยชุมชน ด้วยวิธีการเผาทำลายหลังพบว่าเกาะล้าน ต้องประสบปัญหาขยะมูลฝอยตกค้างมากกว่า 5 หมื่นตัน และยังไม่มีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม


นายณัฐพล กล่าวว่าสำหรับพื้นที่ชุมชนบ้านเกาะล้าน ม.7 ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเมืองพัทยาที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางมาพักผ่อนเฉลี่ยถึงวันละ 5,000-10,000 คนต่อวัน แต่เนื่องจากมีพื้นที่จำกัดจึงทำให้ระบบสาธารณูปโภคไม่เพียงพอและก่อให้เกิดปัญหาขยะตกค้างเป็นจำนวนมาก ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากเรือขนถ่ายขยะของเมืองพัทยาที่ใช้ในการขนถ่ายจากเกาะสู่ฝั่งเกิดการชำรุดทรุดโทรมอย่างหนักจนต้องหยุดใช้งานไปนานหลายปี ทำให้มีขยะสะสมบริเวณหน้าหาดแสมแล้วกว่า 5,000 ตันและจะมีปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากยังไม่มีระบบการบริหารจัดการและแก้ไขที่เป็นรูปธรรม


และล่าสุดจากการศึกษาและออกแบบก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยชุมชนแบบครบวงจร ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ศึกษา คือการเผาทำลายบนพื้นที่แหล่งกำเนิด สอดคล้องกับแนวทางของภาครัฐที่วางไว้ ด้วยเหตุนี้เมืองพัทยา จึงเสนอขอรับความเห็นชอบจากสภาเมืองพัทยาตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อหมายให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนดำเนินการทั้งการจัดทำระบบและการกำจัดมูลฝอย


โดยเมืองพัทยา มีหน้าที่ชำระค่ากำจัดมูลฝอยเพื่อเป็นทางเลือกในการดำเนินการโครงการสนับสนุนแนวทางให้ภาคเอกชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้านการกำจัดขยะมูลฝอย ( Pri vate Public Partnership) และแบ่งเบาภาระให้เมืองพัทยา เนื่องจากระบบดังกล่าวเป็นระบบกำจัดแบบเผาทำลายที่จะเป็นต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อควบคุมมลพิษและต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ในการควบคุมระบบที่เกินขีดความสามารถของเมืองพัทยา ที่จะต้องเข้ามาบริหารจัดการเองด้วย


นอกจากนั้นยังมีรายงานว่าโครงการดังกล่าวจำเป็นต้องมีการเสนอเรื่องเพื่อขอรับความเห็นชอบจากสภาเมืองพัทยา ก่อนส่งรายงานต่อไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนาม เปิดประกาศรับภาคเอกชนที่สนใจให้เข้ามาลงทุน คาดว่าน่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 1-2 ปี


ขณะที่ นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี สมาชิกสภาเมืองพัทยา กล่าวว่าตนเองไม่เห็นชอบต่อการดำเนินการดังกล่าวเนื่องจากเป็นการลงทุนโดยภาคเอกชน 100 % จึงไม่ทราบว่าจะเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.การร่วมทุนหรือไม่ อีกทั้งยังคาดว่าจะมีข้อกำหนดการทำสัญญายกโครงการและพื้นที่คืนให้กับเมืองพัทยาในระยะ 30 ปี หรือไม่ และเมื่อถึงเวลานั้นก็ไม่ทราบว่าระบบปฏิบัติจะล้ำสมัยไปมากเพียงใด


“ ที่สำคัญเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการกำจัดขยะอาจมีสภาพชำรุดอย่างหนัก จึงน่าจะเป็นภาระที่เมืองพัทยาต้องแบกรับ ดังนั้นจึงอยากให้มีการควรไตร่ตรองและศึกษาอย่างละเอียด ส่วนปริมาณขยะที่เกิดขึ้นกว่า 50,000 ตันในปัจจุบันและจะเพิ่มเป็น 6-7 หมื่นตันในอีก 1-2 ปีข้างหน้าหลังดำเนินการก่อสร้างโครงการเสร็จ วิธีการเผาทำลายก็น่าจะสามารถกระทำได้เพียงปีละ 14,000 ตันต่อปีเท่านั้น ซึ่งคงต้องใช้เวลา 3-4 ปี ขยะค้างเก่าจึงจะหมดไป”


ส่วนขยะใหม่ที่เพิ่มขึ้นอีกกว่าวันละ 20-30 ตัน ก็จะสะสมมากขึนทุกวัน จึงอยากให้เมืองพัทยา ศึกษารายละเอียดอย่างถี่ถ้วนและหามาตรการสำรองในการรองรับปัญหาก่อนนำเสนอต่อกระทรวงมหาดไทย






กำลังโหลดความคิดเห็น