ตราด - กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเวทีรับฟังความเห็นชาวจันท์-ตราด ในโครงการสร้างทางรถไฟรางคู่เชื่อมสัตหีบ จ.ชลบุรี สู่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ระยะทาง 300 กม.ชี้หากไม่มีอุปสรรคสามารถดำเนินการได้ใน 10 ปี
วานนี้ ( 27 พ.ค.) กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม การรถไฟแห่งประเทศไทย นำโดย นางพิมพ์ใจ ยุทธบรรดล ผู้เชี่ยวชาญด้านประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน นายธีรวิทย์ สุธาทิพย์ วิศวรกรโยธา และ น.ส.น้ำฝน พามา นักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม ได้จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากชาว จ.ตราด เกี่ยวกับการศึกษาความเหมาะสมโครงการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่สายชุมสายศรีราชา-ระยอง มาบตาพุด ระยอง-จันทบุรี-ตราด โดยมีผู้บริหารท้องถิ่นและประชาชนทั้งใน จ.ตราด และจันทบุรี เข้าร่วมกว่า 150 คน
นายธีรวิทย์ สุธาทิพย์ วิศวรกรโยธา เผยว่า เส้นทางรถไฟรางคู่สายศรีราชาที่จะผ่านมายัง จ.ระยอง จันทบุรี และตราด จะมีจำนวน 2 เส้นทาง และมาเชื่อมต่อมาถึง ต.แหลมกลัด ก็จะเหลือเส้นทางรถไฟเพียงเส้นทางเดียวที่จะวิ่งเลียบชายทะเลและภูเขา เนื่องจากเป็นพื้นที่แคบ และจะไปสิ้นสุดที่ด่านศุลกากรคลองใหญ่ โดยมีระยะทางรวมทั้งสิ้น 300 กิโลเมตร และจะมีสถานีจอดทั้งหมด 37 สถานี
นอกจากนั้น ยังจะเสนอเส้นทางเลือกที่จะเชื่อมต่อจาก อ.ขลุง จ.จันทบุรี เพื่อเข้าสู่ จ.ตราด ที่ ต.ประณีต รวมทั้งเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อจาก ต.แสนตุ้ง มุ่งสู่ อ.เมืองตราด ที่จะมีสถานีเมืองตราดอยู่ที่บริเวณไอยรารีสอร์ท และบ้านโพรงตะเข้ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนได้ตัดสินใจว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ค่าก่อสร้างยังไม่สามารถระบุชัดเจนได้ เพราะยังมีขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ อีกมาก รวมทั้งระยะเวลาในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการในแต่ละเส้นทางที่จะต้องใช้เวลาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 3 เดือน
“และยังต้องดูอีกว่าแต่ละเส้นทางคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่ และหากคุ้มค่าก็จะต้องมีการออกแบบในรายละเอียดของแต่ละแบบที่เลือกไวอีก รวมทั้งการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะต้องใช้เวลาอีก 2 ปี และเมื่อได้งบประมาณแล้วก็ต้องจัดทำการประมูล โดยคาดว่าระยะเวลาดำเนินการของโครงการทั้งหมดรวมทั้งเวลาในการก่อสร้างจะใช้เวลานานถึง 10 ปี” นายธีรวิทย์ กล่าว
ขณะที่ นายจอมศักดิ์ ภูติรัตน์ ประธานหอการค้าจังหวัดจันทบุรี เผยว่า เส้นทางรถไฟทางคู่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคตะวันออก เพราะนอกจากจะช่วยลดค่าขนส่งให้แก่นักลงทุนแล้ว ยังช่วยลดค่าโดยสารให้แก่ประชาชน ส่วนสุดท้ายแล้วจะสรุปที่เส้นทางใดก็จะต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญด้วย โดยที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องระยะเวลาในการดำเนินการที่ไม่รู้ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด และใช้งบประมาณมากแค่ไหน ซึ่งเรื่องนี้ภาครัฐจะมองในเรื่องของความคุ้มทุนเป็นหลัก
เช่นเดียวกับผู้เข้าร่วมประชุมหลายรายที่สะท้อนถึงความต้องการที่จะมีเส้นทางรถไฟรางคู่ แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือขั้นตอนการก่อสร้างและระยะเวลาในการดำเนินงาน รวมทั้งผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น จึงขอให้ผู้เกี่ยวข้องทำการศึกษาอย่างละเอียด เพราะเกรงว่าอาจไม่คุ้มค่าต่องบประมาณที่จะต้องลงทุน จนสุดท้ายรัฐบาลอาจจะใช้เป็นข้ออ้างในการไม่อนุมัติให้มีการก่อสร้าง