xs
xsm
sm
md
lg

เปิดสวนผลไม้ “ธรรมเจริญ” จากเกษตรเชิงเดี่ยวสู่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร บ้านนาตาขวัญ จ.ระยอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์ข่าวศรีราชา - เปิดสวน “ธรรมเจริญ” จากเกษตรเชิงเดี่ยวสู่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ลองชิมแล้วจะติดใจ ทุเรียนสวนธรรมเจริญ เนื้อนุ่มหวานไม่เหมือนใคร ซ้ำยังมีลองกอง มังคุด เงาะ รสชาติแสนอร่อยไม่ง้อตลาดส่งออก



จากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ที่พยายามดิ้นรนหาแนวทางสร้างความยั่งยืนให้แก่ตนเองด้วยการพัฒนาสวนผลไม้ในทุกรุปแบบ หวังสร้างคุณภาพด้านผลผลิตยกระดับการจำหน่ายผลไม้ทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้การสนับสนุนทั้งด้านวิชาการ เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ผสมผสานการทำเกษตรอินทรีย์ของทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ จ.ระยอง เพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจในการบริโภคให้แก่ประชาชน

วันนี้ “สวนผลไม้ธรรมเจริญ” ของคุณลุงประวิทย์ ธรรมเจริญ ซึ่งตั้งอยู่ใน ต.นาตาขวัญ อ.เมืองระยอง เป็นอีกหนึ่งสวนผลไม้ที่ประสบผลสำเร็จจากการที่เรียนรู้เรื่องการต่อยอดจากเกษตรเชิงเดี่ยว เป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่ในปีนี้ได้เปิดสวนผลไม้เนื้อที่กว่า 30 ไร่ ให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติได้เข้าชมความสำเร็จอย่างเป็นทางการเป็นปีแรก

คุณลุงประวิทย์ บอกว่า สวนธรรมเจริญ ตั้งอยู่ริมถนนนาตาขวัญเฉลิมพระเกียรติ ในพื้นที่ ม.4 ต.นาตาขวัญ อ.เมือง จ.ระยอง ซึ่งเป็นสวนผลไม้ที่อยู่ใกล้เขตอุตสาหกรรมแต่ก็สามารถพัฒนาผลผลิตภายในสวนให้ได้คุณภาพ ไร้ซึ่งสารเคมี พร้อมยืนยันว่าอุตสาหกรรมและการเกษตรสามารถอยู่ร่วมกันได้หากแต่ต้องรู้จักพึ่งพาซึ่งกันและกัน พร้อมพาทีมงาน MGR Online เยี่ยมชมสวนผลไม้ที่มีทั้งทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง และสละ และปัจจุบันยังได้เปิดสวนเพื่อการท่องเที่ยวต้อนรับนักเดินทางมาแล้วนับพันคน

ถือได้ว่าเป็นการทำสวนผลไม้เชิงธุรกิจที่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้โดยตรง และความแตกต่างของสวนแห่งนี้ยังอยู่ที่การคิดค่าบริการตามจริง คือ กินเท่าไหร่ก็จ่ายเท่านั้น ไม่เน้นเหมาหัวแบบบุฟเฟต์ พร้อมกระซิบด้วยว่าเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา ทุเรียนสวนธรรมเจริญ ได้ผ่านการลิ้มลองของนักท่องเที่ยวไปแล้วกว่า 100 กิโลกรัม

คุณลุงประวิทย์ บอกว่า ธุรกิจสวนผลไม้ที่ทำเป็นธุรกิจในครอบครัว ซึ่งญาติและพี่น้องจะช่วยกันทำ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทำการเกษตรกรแบบปลูกเพื่อส่งขายเพียงอย่างเดียว

“ในปีนี้เราได้นำผลไม้มาขายถึงหน้าสวน และได้เนรมิตพื้นที่ทั้งหมดตกแต่งให้สอดรับต่อการท่องเที่ยว หลังจากได้ไปร่วมรับการอบรมจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จนเกิดความสนใจและมองว่าการท่องเที่ยวจะสามารถเดินไปพร้อมกับธุรกิจผลไม้ได้ จึงค่อยๆ คิดทำ โดยมีเครือข่ายเกษตรกรสวนผลไม้ช่วยสนับสนุนไม่ให้สินค้าขาดหรือไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักท่องเที่ยว ประกอบกับการที่เราอยู่ใกล้เขตอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงกลั่นน้ำมัน IRPC ทำให้ได้รับการช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ชาวสวนอยู่ร่วมกันก็ถือเป็นเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้น”

ไม่เพียงเท่านั้น คุณลุงประวิทย์ ยังเป็นประธานมังคุดแปลงใหญ่ของ จ.ระยอง จึงมีการระดมพลังของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนในการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่ราคามังคุดส่งออกไปยังประเทศจีนมีราคาถูก ชาวสวนก็จะหาแนวทางในการพัฒนาคุณภาพผลไม้จนได้มาตรฐานรวมกัน และยังมีแนวคิดที่จะช่วยกันเปิดสวนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศ และกลุ่มพ่อค้าคนกลาง
 
“เพราะเราสามารถกำหนดราคาที่เราต้องการเองได้ และการทำเกษตรเชิงท่องเที่ยวถือว่าได้ราคาดีกว่า สำหรับสวนธรรมเจริญ จะเปิดให้บริการทุกวันไม่มีวันหยุด โดยสวนอาจเปิดไปถึงกลางเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งก็แล้วแต่สภาพอากาศ ซึ่งนอกจากนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสรสชาติทุเรียนนาตาขวัญ ที่หอมหวาน เนื้อนุ่มเป็นเอกลักษณ์แล้ว ทางสวนยังมีการแปรรูปทุเรียนเป็นทุเรียนทอด และในปีหน้าจะมีการเพิ่มในส่วนของร้านกาแฟและร้านอาหารที่จะชูเมนูส้มตำทุเรียนที่ผลิตจากวัตถุดิบภายในสวนธรรมเจริญให้ลูกค้าและผู้มาเยือนได้ลองลิ้มชิมรส”

และในอนาคตหากท่องเที่ยวสวนผลไม้ยังคงเติบโตและได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเช่นนี้ ก็อาจลงทุนสร้างห้องพักไว้รองรับลูกค้าที่จะมาพักค้างแรม โดยทำเป็นเพกเกจท่องเที่ยวชมสวนผลไม้สวนธรรมเจริญอย่างจริงจังอีกด้วย

คุณลุงประวิทย์ ยังบอกอีกว่า การท่องเที่ยวเชิงเกษตรมีข้อดีที่เกษตรกรสามารถถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรโดยตรงให้แก่ผู้ที่มาใช้บริการ ถือเป็นการสื่อสาร 2 ทางที่ได้ทั้งการประชาสัมพันธ์ และการสร้างกระแสตอบรับเรื่องการรับรู้เกษตรอินทรีย์และเกษตรผสมสานที่สามารถให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ซึ่งชาวสวนเองก็ได้เรียนรู้กลไกการตลาด อันจะเป็นองค์ความรู้ในการช่วยชาวสวนในเรื่องของการลดต้นทุนและการประคับประคองให้ชาวสวนอยู่ได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องรักษาคุณภาพสินค้าทางการเกษตรให้ดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางสวนธรรมเจริญให้ความสำคัญมาโดยตลอด














กำลังโหลดความคิดเห็น