เชียงใหม่ - มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ร่วมมือปางช้างแม่แตงเปิดหลักสูตรอบรมควาญช้างมืออาชีพ ยกระดับสวัสดิภาพและสวัสดิการควาญช้างไทย รายได้เทียบเท่าปริญญาตรี
ดร.บุญทา ชัยเลิศ ประธานบริหารปางช้างแม่แตง เปิดเผยว่า ทางกลุ่มผู้เลี้ยงช้างรู้สึกเป็นห่วงอาชีพควาญช้างไทยว่าจะสูญหายไปไร้ผู้สืบต่อ จึงจับมือกันร่วมสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลช้างระดับมืออาชีพ สัตวแพทย์สร้างหลักสูตรควาญช้างอาชีพขึ้น
เพื่อสืบทอดภูมิปัญญาควาญช้างไทยและยกระดับควาญช้างให้มีมาตรฐานการทำงานและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น เป็นการสืบต่อภูมิปัญญาของไทยเรา ผู้ที่ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตร “ควาญช้างมืออาชีพ ระดับพื้นฐาน” สามารถนำไปต่อยอดการทำงานและยกระดับเงินเดือนได้เทียบเท่ากับคนจบปริญญาตรี และนำไปสู่การอบรมในขั้นตอนต่อไปคือควาญช้างมืออาชีพระดับกลางและระดับก้าวหน้าในอนาคตได้
การอบรมเชิงปฏิบัติการ “ควาญช้างมืออาชีพระดับพื้นฐาน” เป็นหลักสูตรที่บูรณาการร่วมกันจากหลายๆ องค์กรและบุคลากรสำคัญในวงการช้างไทยที่มีความรู้และความเข้าใจในช้างและอาชีพควาญช้างเป็นอย่างดี เช่น อ.วิโรจน์ สุภโชคสหกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากรช้างเลี้ยงในภาคเหนือ ฯลฯ
ดร.บุญทาเปิดเผยต่อไปว่า ทุกวันนี้วงการช้างไทยยังขาดควาญช้างที่เชี่ยวชาญจริงๆ เพราะควาญช้างสมัยก่อนส่วนใหญ่สืบทอดกันมาแบบรุ่นสู่รุ่นในครอบครัวที่เลี้ยงช้างไว้ใช้งาน แต่ต่อมาบริบทเปลี่ยนไป ช้างไทยก้าวเข้ามาสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากขึ้น
เพราะนโยบายด้านป่าไม้ที่จำกัด ทำให้มีช้างบ้านที่เคยทำงานในอุตสาหกรรมป่าไม้ตกงาน และช้างเป็นสัตว์ที่กินอาหารมากเป็นพิเศษ เจ้าของช้างจึงนำช้างมาทำงานกับปางช้างต่างๆ เพื่อรองรับการท่องเที่ยว ช่วยให้ช้างอยู่รอดได้ มีงานทำ มีอาหารบริโภค ได้รับการดูแลที่ดี ไม่ต้องทำงานหนักมากๆ ต่อไป บางรายก็ขายช้างให้กับทางปางช้างไปเลย ทำให้ช้างขาดควาญหรือผู้ดูแลส่วนตัวไป
บางครั้งควาญช้างที่มาดูแลช้างเชือกนั้นต่อก็ไม่ได้มีประสบการณ์การเลี้ยงช้างมากมายนัก อาจทำให้ช้างได้รับการดูแลไม่ดีพอ เพราะการเลี้ยงช้างนั้นไม่ใช่สักแต่ขี่ช้างเป็น พาช้างทำงานได้ แต่ต้องรักและเข้าใจในช้าง มีการดูแลเรื่องอาหารการกินไม่ให้ขาดตกบกพร่อง เวลาช้างเจ็บป่วยหรือมีอาการผิดปกติก็ต้องรู้และสามารถดูแลรักษาเบื้องต้นได้ หรือแจ้งและนำส่งสัตวแพทย์ได้
“การเลี้ยงช้างให้ดีนั้นต้องได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี ไม่ใช่ใครที่แค่ว่าใจกล้าขี่ช้างได้ก็จะสามารถเป็นควาญช้างได้เลย เราต้องการคนที่มีใจรักชอบช้าง มีความพร้อมที่จะทำงาน โดยรับทุกวุฒิการศึกษา แต่ถ้าจบมัธยมศึกษาตอนปลายก็จะดีต่อการเรียนรู้มากขึ้น ซึ่งเราพร้อมที่จะจ่ายเงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาทหรือมากกว่านั้นถ้าต้องดูแลช้างในกรณีพิเศษ”
ดร.บุญทาบอกว่า อยากเชิญชวนเจ้าของปางช้างต่างๆ ส่งคนมาเรียน อาจะเป็นทั้งควาญช้างเก่าอยู่แล้วก็ส่งมาเพิ่มเติมความรู้เพื่อพัฒนาความสามารถให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป และส่งคนใหม่ๆ มาเรียนด้วย เพื่อผลิตควาญช้างรุ่นใหม่รองรับความต้องการของปางช้างต่างๆ ทั่วประเทศ
องค์ความรู้เรื่องการเลี้ยงช้างไทยสืบต่อกันมานานหลายชั่วอายุคน มีการถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น ตอนนี้ถึงเวลาแล้วจะต้องนำมาเรียบเรียงให้เป็นหมวดหมู่ และนำมาใช้กันอย่างแท้จริง มีการศึกษาวัฒนธรรมและประเพณีการเลี้ยงช้างกันอย่างจริงจัง นอกจากภูมิปัญญาดั้งเดิมในการเลี้ยงช้างแล้วการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ยังได้มีการนำความรู้สมัยใหม่เข้ามาเสริมให้แก่ผู้เข้ารับการอบรม ทั้งในเรื่องของการพัฒนาบุคลิกภาพ ทัศนคติในการทำงาน จิตวิทยาในการบริการ และความรู้ด้านภาษาต่างประเทศ เพื่อสื่อสารกับนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย
ในหลักสูตรการอบรมนั้นจะมีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ใช้ระยะเวลาในการอบรมทั้งสิ้น 85 ชั่วโมง ในระยะเวลา 1 เดือน ระหว่างวันที่ 8 มิ.ย.-8 ก.ค. 62 ที่ปางช้างแม่แตงมีการฝึกปฏิบัติจริงกับช้างจริงๆ โดยผู้ที่สนใจเข้าฝึกอบรมสามารถติดต่อสมัครฝึกอบรมได้ที่ สถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ หมายเลขโทรศัพท์ 0-5388-5950 และที่ http://www.research.cmru.ac.th/mahout อีเมลแอดเดรส E-mail : research_cmru@hotmail.com และเฟซบุ๊ก http://ww.facebook.com/researchcmru ติดต่อสมัครได้ตั้งแต่บัดนี้ ถึง 31 พ.ค. 62 โดยจะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 พ.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่