พิษณุโลก - คนร่วมงานมหกรรมควายยักษ์เมืองสองแคว-วันอนุรักษ์ควายไทย ฮือฮากันทั่วหลังอดีตนายกสมาคมฯ นำ “เจ้าเก้าเจริญ-ควายไทยหล่อที่สุด” แชมป์ถ้วยพระราชทาน-ค่าตัวทะลุ 20 ล้าน โชว์กลางงาน
ผู้เข้าร่วมงานมหกรรมความยักษ์ เมืองสองแคว ครั้งที่ 4 และระลึกวันอนุรักษ์ควายไทย ซึ่งสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย ร่วมกับปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จ.พิษณุโลก ต่างพากันฮือฮากันทั่ว เมื่อเห็น “เก้าเจริญ-ควายไทยที่หล่อที่สุดในประเทศไทย”
นายสมบัติ ทำละเอียด อดีตนายกสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย (สคท.) เจ้าของเจ้าเก้าเจริญ-ควายไทยแท้ที่หล่อสุด บอกว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรรุ่นใหม่ หันมาเลี้ยงควายไทยที่มีน้ำหนักมากกว่า 1 ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัมกันมากขึ้น เนื่องจากมีความสวยงามมากกว่าควายต่างประเทศ และที่สำคัญสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่เลี้ยง เพราะแต่ละตัวมีราคาหลายแสนบาทเลยทีเดียว ซึ่งที่ผ่านมาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ควายไทยถือว่ามีการพัฒนาสายพันธุ์ไปไกลมาก โดยเฉพาะฟาร์มกระบือของตน มีควายยักษ์ที่มีน้ำหนักมากกว่า 1,000 กิโลกรัม กว่า 120 ตัวแล้ว
เจ้าเก้าเจริญ มีน้ำหนัก 1,300 กก. อายุเพียง 5 ปี เป็นแชมป์พระราชทานเมื่อปีผ่านมา วันนี้ได้นำมาโชว์ภายในงาน เพื่อให้ประชาชนได้มาชื่นชมกระบือไทยแท้หล่อที่สุด มีคนถามเพื่อจะซื้อเก้าเจริญ โดยให้ราคา 20 ล้านบาท ตนก็ยังไม่ขาย เนื่องจากตนต้องการต่อยอดพัฒนาสายพันธุ์ควายไทยให้มากกว่านี้ แต่หากใครสนใจต้องการซื้อน้ำเชื้อเจ้าเก้าเจริญ ก็ยินดี โดยขายให้ราคาโดสละ 500 บาทเท่านั้น
ด้านนางดวงพร แสเผือก เจ้าของฟาร์มชัยนาทพัฒนาควายไทย ที่นำเจ้า “จันทร์สง่า” กระบือเพศผู้ อายุ 5 ปี ที่มีน้ำหนัก 1,167 กก. มาประกวดภายในงานครั้งนี้ด้วย กล่าวว่า อยากให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปได้อนุรักษ์ควายไทยแท้ ไว้กับประเทศไทย เนื่องจากควายไทยจริงๆ แล้วเลี้ยงง่าย และเลี้ยงแบบเปิดกินหญ้าทั่วไปจะทำให้แข็งแรง อายุยืนยาวกว่า ตนเองได้ซื้อเจ้าจันทร์สง่ามาตั้งแต่เล็ก จนถึงขณะนี้โตและมีน้ำหนักเป็นตัน ส่งเข้าประกวดหลายเวที ได้แชมป์มาหลายสนาม มีคนมาให้ราคาแล้ว 1.5 ล้านบาท
สำหรับ “มหกรรมความยักษ์ เมืองสองแควฯ” ที่จัดขึ้นนี้ มีเป้าหมายส่งเสริมการอนุรักษ์และพัฒนาควายไทยจังหวัดพิษณุโลก เป็นการกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาเห็นความสำคัญต่อการผลิตควายคุณภาพ ทั้งการจัดการเลี้ยงดู การคัดเลือกปรับปรุงพันธุ์กระบือ และร่วมกันอนุรักษ์ควายไทยมากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มของกระบือ หรือควายไทย ภายในงานมีการจัดนิทรรศการควายไทย, พิธีสู่ขวัญควาย, การโชว์ควายเผือกและควายแคระแสนรู้, การประกวดควายงามจากทั่วประเทศ ทั้งหมด 12 รุ่น
อนึ่ง จากข้อมูลกรมปศุสัตว์พบว่า ในปี 2552 จำนวนกระบือภายในประเทศมีทั้งสิ้น 1,300,000 ตัว และได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนเหลือประมาณ 800,000 ตัว จากปัญหาดังกล่าวหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงร่วมมือกับเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงกระบือให้ความสำคัญต่อการผลิตกระบือคุณภาพ การพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ที่เหมาะสมการอนุรักษ์พันธุกรรมที่ดี และการเพิ่มจำนวนกระบือต่อไป