อ่างทอง - พาชมวัดคลาสสิก สร้างกำแพงด้วยหินศิลาแลงประดับด้วยปราสาทรอบวัด เน้นโทนสีสะอาดสงบเงียบน่าปฏิบัติธรรม แถมการันตีรางวัลห้องน้ำดีเด่นระดับจังหวัด 2 ปีซ้อน และยังเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์
พาชมวัดคลาสสิก สร้างกำแพงวัด โบสถ์ และเสาไฟฟ้า จากหินศิลาแลง ประดับด้วยปราสาทสวยงาม ทั้งวัดถูกทาสีด้วยเฉดสีขาวสลับน้ำตาลจนน่าเข้าไปพักผ่อน บรรยากาศสงบเงียบน่าปฏิบัติธรรม ที่วัดไผ่แหลมธรรมาราม หมู่ที่ 1 ตำบลราษฎรพัฒนา อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง
โดยทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดของ พระครูอุปถัมภ์ ธรรมรังษี เจ้าอาวาสวัด และชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ร่วมกันสร้างด้วยแรงศรัทธา ภายในวัดมีบรรยากาศที่ร่มรื่นเงียบสงบ ซุ้มประตูวัด หลังคาศาลาการเปรียญ และหลังคาศาลาที่พักถูกประดับไปด้วยกาแล ศิลปะทางภาคเหนือ พร้อมด้วยรูปช้างขนาดต่างๆ
นอกจากนี้ ยังมีของใช้สมัยโบราณที่คนรุ่นใหม่หาดูได้ยาก เช่น เรือในสมัยโบราณ เกวียน และเครื่องฝัดข้าวสมัยโบราณ ไว้ให้ชมและศึกษา เป็นวัดเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ริมทุ่งนาที่ชาวบ้านในพื้นที่รู้จักเพียงเท่านั้น และทางวัดได้ใช้งบประมาณจากเงินทำบุญที่ใน 1 ปี จะมีการทำบุญใหญ่เพียง 1 ครั้ง มาบริหารใช้สอยอย่างประหยัด แถมยังได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากจังหวัดอ่างทอง ด้านการออกแบบห้องน้ำดีเด่น ปี 2551-2552 และยังเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ เรื่องพันท้ายนรสิงห์ ตอนชกมวยงานวัดอีกด้วย
จากการสอบถาม พระครูอุปถัมภ์ กล่าวว่า วัดไผ่แหลมธรรมาราม เป็นวัดเล็กๆ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 จากความร่วมมือและจิตศรัทธาของชาวบ้านในพื้นที่ สมัยก่อนเป็นวัดที่อยู่กลางทุ่ง ตอนหลังมีถนนตัดผ่านหน้าวัด เหตุผลที่นำหินศิลาแลงมาสร้างเป็นกำแพงวัด กำแพงโบสถ์ และเสาไฟฟ้าส่องทาง เนื่องจากไปพบเห็นมาจากทางภาคอีสาน ซึ่งทางอาตมาเห็นแล้วรู้สึกว่ามีความสงบเยือกเย็น เลยมีความคิดว่าทางวัดเป็นวัดเล็กๆ อยู่บ้านนอก แทนที่จะก่อสร้างให้ใหญ่โตแบบวัดอื่นๆ ก็น่าจะเปลืองงบประมาณ และอาจจะใช้ประโยชน์ได้ไม่คุ้มค่า
จึงคิดว่าวัดน่าจะมีรูปแบบเป็นวัดคลาสสิก คือ วัดจะต้องประกอบไปด้วย พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน เรือชนิดต่างๆ ในสมัยโบราณ เช่น เรือมาตร เรือแจว เรือไผ่ม้า และเรือหมู ที่คนสมัยใหม่ไม่เคยรู้จัก และสีฝัด (เครื่องฝัดข้าว) ที่นับวันจะเลือนรางจางหายไป โดยรายได้ของทางวัดมาจากการจัดงานทอดกฐินของลูกศิษย์และชาวบ้านปีละ 1 ครั้ง จึงต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด ส่วนปราสาทและโคมไฟที่ประดับอยู่บนกำแพงอย่างสวยงาม มีแนวคิดว่าหลังจากสร้างกำแพงและเสาหินศิลาแลงภายในวัด จะต้องมีปราสาทนำมาประดับให้สวยงาม
บางคนอาจจะมองคล้ายเหมือนศาลพระภูมิ แต่มีความแตกต่างกันตรงปราสาทจะไม่มีผนัง ส่วนศาลพระภูมิจะมีผนังด้านหลัง โดยได้สั่งช่างทำขึ้นมาเป็นพิเศษนำมาทาสีตกแต่งด้วยเฉดสีขาวและน้ำตาลดูสงบเงียบ ซึ่งวัดหรืออารามแปลว่าความสงบ หรือดีใจ และประดับด้วยโคมไฟและหลอดไฟด้านใน และจะเปิดไฟในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
ทำให้ผู้พบเห็นที่เดินทางเข้ามาทำบุญในวัดเห็นแล้วมีจิตใจเกิดความสงบร่มเย็น จึงเป็นความแปลกที่แรกที่เดียวในจังหวัดของวัดแห่งนี้ ซึ่งจะทำให้ญาติโยมที่เดินทางมาทำบุญที่วัดมีจิตใจที่สงบ และพระที่จำพรรษาอยู่ในวัดก็เกิดความสงบไปด้วย ในบรรยากาศบ้านนอกแบบท้องทุ่งที่น่าเดินทางมาปฏิบัติธรรม