ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ดูให้เห็นเป็นบุญตา “พลายเอกชัย” ช้างเผือกในความดูแลของศูนย์อนุรักษ์ช้างที่มหาสารคามน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นช้างมงคลคู่บารมีในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ เผยเป็นช้างหนุ่มซื้อจากชาวบ้าน จ.กระบี่เมื่อปี 53 ประกาศขายนานกว่า 3 ปีไม่มีใครซื้อ
พี่น้องชาวอีสานจำนวนไม่น้อยยังไม่ทราบว่า “พลายเอกชัย” ในความดูแลของศูนย์อนุรักษ์ช้าง ช้างทองคำ ต.นาข่า อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม เป็นช้างหนุ่มอีกเชือกหนึ่งที่มีลักษณะเป็นช้างมงคลหรือ “ช้างเผือก” ที่ทางศูนย์อนุรักษ์ช้างแห่งนี้ได้เดินเรื่องน้อมเกล้าฯ ถวายให้เป็นช้างคู่พระบารมีภายใต้เศวตฉัตรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ไปเมื่อเดือนตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ระหว่างรอผู้เชี่ยวชาญด้านคชลักษณ์มาตรวจสอบอีกครั้ง ก่อนจะน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นช้างหลวงส่วนพระองค์
ศูนย์อนุรักษ์ช้างช้างทองคำตั้งอยู่ประมาณ กม.28 เส้นทาง อ.บรบือ-อ.นาดูน แต่ละวันมีนักท่องเที่ยวหรือกลุ่มผู้แสวงบุญที่ไปกราบไหว้พระธาตุนาดูนเสร็จแล้วจอดแวะชมและให้อาหารช้าง ณ ศูนย์อนุรักษ์แห่งนี้อย่างไม่ขาดสาย องค์พระธาตุนาดูนตั้งอยู่ห่างออกไปราว 1 กม.เท่านั้น โดยเฉพาะช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์บรรยากาศภายในปางช้างจะคึกคักมากเป็นพิเศษ และส่วนใหญ่จะขอถ่ายรูป เซลฟีกับพลายเอกชัยเป็นที่ระลึก
“พลายเอกชัย” เป็นช้างหนุ่มวัย 33 ปี สูง 2 เมตร 60 เซนติเมตร น้ำหนักกว่า 4 ตัน งายาว 1 เมตร 6 เซนติเมตร โคนงาเส้นรอบวง 33 เซนติเมตร เป็นช้างหนุ่มที่มีรูปร่างสมบูรณ์ สวยงาม
“พลายเอกชัยเป็นช้างที่เชื่องและแสนรู้ ใครมาเห็นก็รักต้องขอถ่ายรูปด้วย เบื้องต้นผ่านขั้นตอนตรวจสอบคชลักษณ์หมดแล้ว รอแต่เจ้าหน้าที่เดินทางมาตรวจสอบรับรองว่าเป็นช้างเผือกช้างมงคลอย่างเป็นทางการเท่านั้น ส่วนขั้นตอนการน้อมเกล้าฯ ถวายตามกฎระเบียบเสร็จสิ้นหมดแล้วเมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา” ธนบดี พรหมสุข ผู้จัดการศูนย์อนุรักษ์ช้างช้างทองคำกล่าวด้วยความภาคภูมิใจ และอธิบายเพิ่มเติมว่า
พลายเอกชัยมีคุณลักษณะเป็นช้างเผือกตามตำราคชลักษณ์ที่ระบุไว้ครบ 7 ประการ คือ ตาขาว, เพดานขาว, เล็บขาว, ขนขาว, พื้นหนังขาวหรือสีคล้ายหม้อใหม่, ขนหางขาว, อัณฑโกศขาวหรือสีคล้ายหม้อใหม่
ตามตำราคชศาสตร์ได้จัดแบ่งลักษณะของช้างมงคลหรือช้างเผือกออกเป็น 4 ตระกูล ประกอบด้วย พรหมพงศ์, อิศวรพงศ์, วิษณุพงศ์ และอัคนีพงศ์ โดย “พลายเอกชัย” มีลักษณะมงคลอยู่ในตระกูล พรหมพงศ์ ช้างเผือกที่พระพรหมเนรมิต มีลักษณะพิเศษที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า คือ เนื้อหนังอ่อนนุ่ม, หน้าใหญ่ ท้ายต่ำ, ขนอ่อนละเอียด, โขมดสูง, คิ้วสูง, ตาขาว, งาสีเหลืองเรียวงดงาม
ธนบดีเล่าถึงที่มาของพลายเอกชัยว่า เดิมทีเป็นช้างเลี้ยงของชาวบ้านที่ จ.กระบี่ เจ้าของเลี้ยงไว้ใช้งานตามวิถีชาวบ้านที่มีช้างเลี้ยงทั่วไป รับจ้างลากไม้บ้าง พาออกแสดงตามงานเทศกาลบ้าง พอมีรายได้จับจ่ายใช้สอย แต่จู่ๆ พลายเอกชัยก็ดื้อขึ้นมา ไม่ยอมลากไม้ ไม่แสดงโชว์อะไรทั้งนั้น เป็นอย่างนี้อยู่พักใหญ่ เจ้าของเลยประกาศขาย จนเวลาล่วงไปถึง 3 ปีก็ขายไม่ได้สักที ต่อมาในปี 2553 หลวงปู่ครูบาธรรมมุนี ผู้ริเริ่มจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์ช้างแห่งนี้ทราบข่าวก็เลยเดินทางลงใต้ไปดูพลายเอกชัยให้เห็นกับตา
ทันทีที่เห็นก็รู้สึกถูกชะตา เลยถามซื้อเพื่อนำมาดูแลที่ศูนย์ฯ เจ้าของเขาเสนอขายเป็นเงินเกือบ 2 ล้านบาท ที่ขายราคาแพงเพราะพลายเอกชัยขณะนั้นยังเป็นช้างหนุ่มรุ่นอายุ 24 ปี ตัวใหญ่ ลักษณะสมบูรณ์มาก
หลวงปู่ครูบาธรรมมุนี เป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งศูนย์อนุรักษ์ช้างช้างทองคำในปี พ.ศ. 2551 เป้าหมายหลักใช้เป็นสถานที่ดูแลช้างที่ถูกเจ้าของทอดทิ้ง หรือดูแลไม่ดี อยู่อย่างอดอยาก อาจด้วยเหตุเป็นช้างที่ดื้อไม่ยอมทำงาน หรือช้างที่แก่เกินจะใช้งาน หลวงปูจึงไปขอไถ่ชีวิตช้างเหล่านี้มาจากที่ต่างๆ แล้วนำมาดูแลเอง โดยพื้นฐานหลวงปู่ครูบาธรรมมุนีเป็นคนรักช้างมาแต่เด็ก
“พลายเอกชัย เป็นช้างเชือกที่ 3 ของปางช้างที่นี่ หลังจากหลวงปู่นำมาเลี้ยงแล้ว พลายเอกชัยก็มีท่าทีอ่อนลง เชื่อฟังคำสั่งควาญช้างที่ดูแลประจำตัวง่ายขึ้น ซึ่งลักษณะพิเศษที่บ่งบอกว่าเป็นช้างมงคลของพลายเอกชัยเองก็เพิ่งเริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้เอง และหลวงปู่ครูบาธรรมมุนีก็เป็นผู้ที่สังเกตเห็นลักษณะมงคลดังกล่าวเป็นคนแรก” ธนบดีบอก
ปัจจุบันศูนย์อนุรักษ์ช้างช้างทองคำ ต.นาข่า อ.วาปีปทุม มีพื้นที่ราว 40 ไร่ มีช้างอยู่ในความดูแลทั้งหมด 10 เชือกรวมพลายเอกชัยด้วย ล้วนแต่เป็นช้างที่ถูกช่วยเหลือด้วยการซื้อและไถ่ชีวิตมาจากที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย ภายในศูนย์ฯ จัดสร้างที่อยู่ให้ช้างได้อย่างเป็นสัดส่วน มีควาญช้างคอยดูแล 1 คนต่อช้าง 2 เชือก ช้างมีหลากหลายอายุ “พลายปู่บุญ” เป็นช้างอายุมากสุด 93 ปี “พลายทอง” อายุ 74 ปี
ธนบดีบอกอีกว่า ในอนาคตศูนย์อนุรักษ์ช้างช้างทองคำแห่งนี้จะขยายพื้นที่สร้างโรงเลี้ยงช้างเพิ่มอีก 12 ไร่ เพื่อรองรับจำนวนช้างที่จะเข้ามาอยู่อีกหลายเชือก โดยตั้งใจจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่ออีกแห่งหนึ่งของภาคอีสานหรือของประเทศไทย หากใครอยากดูช้าง อยากดูการแสดงช้าง หรืออยากมาศึกษาวิถีชีวิตช้างก็ต้องแวะมาที่นี่
“หากนักท่องเที่ยวแวะมาที่นี่ ซึ่งไม่ไกลจากองค์พระธาตุนาดูน เรามีบริการครบวงจร นอกจากมีช้างให้ดูได้ศึกษาเรียนรู้แล้ว เรายังมีร้านอาหารให้บริการ มีร้านกาแฟให้นั่งจิบสบายๆ ท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ ที่พิเศษสุด เรามีกาแฟขี้ช้างที่เราบ่มและคั่วเองให้ได้ลิ้มรสอีกด้วย ขายในราคาถูกเพียงถ้วยละ 400 บาทเอง” ธนบดีกล่าวทิ้งท้าย