xs
xsm
sm
md
lg

ส่องลมหายใจคนรอบเหมืองทองพิจิตร หลังปิดมา 2 ปีเศรษฐกิจซบ แต่สารปนเปื้อนยังหลอน(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิจิตร – ชาวบ้านเขาเจ็ดลูก บางส่วนยังหลอนเรื่องสารปนเปื้อน แม้เหมืองทองพิจิตร ปิดมา 2 ปีเต็ม ขณะที่สภาพเศรษฐกิจซบเซา-ราคาที่ดินลดไร้การซื้อขาย สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่แห้งแล้ง รอเพียงฟ้าฝนก่อนเริ่มเพาะปลูก



เหมืองทองชาตรี บริษัทอัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ตั้งอยู่พื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด คือ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ได้ขุดหาแร่ทองคำ มาตั้งแต่ปี 2544 กระทั่งมีการร้องเรียนเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 72/2559 ให้หยุดดำเนินกิจการตั้งแต่ 1 ม.ค.60 แก้ไขปัญหาผลกระทบ

ต่อมา บริษัทคิงส์เกตคอนโซลิเดทเต็ด จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ในการประกอบการเหมือง ได้ยื่นอนุญาโตตุลาการ กรณีการละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement : TAFTA) เรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐบาลไทยจนถึงปัจจุบัน

ซึ่งปัจจุบันสภาพชุมชนคนรอบเหมือง สงบนิ่งเป็นส่วนใหญ่ เดิมทีมีกลุ่มชาวบ้านที่เรียกว่า กลุ่มคนประท้วง วันนี้บางรายได้ล้มเลิกความคิดขัดแย้งกับเหมืองทอง บางรายยื่นถอนฟ้อง หรือเลิกต่อต้าน หันกลับไปอยู่กลุ่มคนสนับสนุนให้เหมืองเปิด เนื่องจากภาวะการเงินฝืดเคือง ไม่มีงานทำ หลังเหมืองปิดไปนาน แต่ก็ยังมีกลุ่มต่อต้านเหมืองทอง ยังหวั่นวิตกถึงภัยจากสารพิษต่างๆรอบบ่อเก็บกักแร่ของอุตสาหกรรมเหมืองทองคำ

เพราะหลังปิดเหมืองได้ราว 1 ปี ชาวบ้านมู่ 3 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ยังพบน้ำในคลอง-แปลงนาข้าว ใกล้แนวรั้วบ่อเก็บกักแร่ของเหมือง มีสีดำคล้ำ จนเกรงกันว่าจะมีสารแมงกานีส สารหนู และไซยาไนด์ปนเปื้อน บริเวณที่ แต่ล่าสุดขณะนี้ สภาพแปลงนาดังกล่าวแห้งแล้ง-ไม่มีน้ำแล้ว

ชาวบ้านรายหนึ่งเปิดเผยว่า โดยรวมคนรอบเหมืองทองรอบเหมืองในระยะรัศมี 5 กิโลเมตร 7 หมู่บ้าน ขณะนี้ สงบนิ่ง ชาวบ้านว่างเว้นการทำไร่(มันสำปะหวัง) ทำนา สภาพผืนดินแห้งแล้ง อยู่ระหว่างการไถปรับพื้นที่รอฝน มีเพียงสวนมะม่วงบางส่วนและแปลงเพาะกล้าของกรมป่าไม้ที่ดูเขียวชะอุ่ม

ขณะที่บ้านเขาดิน หมู่ 3 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ ซึ่งเป็นหมู่บ้านหน้าบริษัทเหมืองทอง และอยู่ติดกับบ่อเก็บกักแร่แหล่งที่ 2 ห่างราว 2-4 กิโลเมตร ซึ่งเป็นชุมชนที่มีชาวบ้านเคลื่อนไหวประท้วงไม่เอาเหมืองทองเป็นส่วนใหญ่ ณ วันนี้บางรายได้ล้มเลิกความคิดขัดแย้งกับเหมืองทอง บางรายถอนฟ้องหรือเลิกความคิดต่อต้าน

ปัญหาสุขภาพร่างกาย โดยเฉพาะกรณีอาการผื่นคันหลายคนมีผลทบน้อยลง ขณะที่สภาพเศรษฐกิจกลายเป็นปัญหาใหญ่แทน รายได้ที่เคยสะพัด เวลาผ่านไป 2 ปีเต็ม ทำให้ชาวบ้านบ่นถึงภาวะเงินทองฝืดเคือง ไม่สามารถทำงานในเหมืองได้ จึงไม่มีการสังสรรค์คึกคักช่วงเหมืองเปิด หลายคนที่หนีไปทำงานเมืองกรุงก็ไม่ประสพความสำเร็จ

ส่วนกลุ่มเรียกร้องเพื่อขายที่ดินให้เหมืองในราคาแพงๆ วันนี้ก็นิ่ง ยอมรับสภาพเหมืองปิด-ไร้ความเคลื่อนไหวใดๆให้เหมืองซื้อที่ดิน ราคาที่ดินที่เคยขึ้นไปสูง ก็หวนคืนสู่ภาวะปกติ แต่ก็ไม่มีชาวบ้านหรือนายทุนรายใดมาซื้อ

แต่กลุ่มคนที่ร้องเรียนต่อต้านเหมืองทองคำมาตลอด โดยเฉพาะในประเด็นปัญหาสุขภาพนั้น แม้ว่าเหมืองปิดไปแล้ว ยังคงรู้สึกว่า ถูกสารพิษทั้งไซยาไนด์และสารหนูตามหลอนอยู่

นางเจริญรัตน์ พงศ์ไพจิตร อายุ 42 ปี บ้านเลขที่ 53/12 หมู่ 3 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร กล่าวว่า ตนเป็นลูกของนายมานิด ลำพระสอน อายุ 65 ปี ซึ่งเคยป่วยและร้องเรียนว่า หายใจไม่สะดวกเพราะฝุ่นละอองจากเหมืองฯ วันนี้สภาพร่างกายพ่อตนก็อ่อนล้าตามวัย

ส่วนตนเอง แม้เหมืองทองปิดการดำเนินงานไปแล้ว ก็ยังมีอาการคันตามร่างกาย คาดว่าเกิดจากการสัมผัส โดยเฉพาะไม่มีกี่วันมานี้ ตนได้อาบน้ำที่ห้องน้ำ ก็มีอาการคัดหน้าท้อง ยังสงสัยว่าน้ำอาจมีสารต่างๆสะสม กระทั่งไปสัมผัสผิวหนังจนเกิดอาการคัน และตนได้ไปหาหมอ แต่หมอก็ไม่ตอบชัดเจนว่า คันเพราะสาเหตุแพ้สารอะไร หรือผลพวงจากอากาศร้อนกันแน่

ถามว่า ใช้น้ำจากบ่อน้ำตื้นหรือไม่นั้น นางเจริญรัตน์ ยืนยันว่า แทบไม่ได้ใช้บ่อน้ำแล้ว ทุกคนในหมู่บ้านรวมทั้งตนใช้แต่น้ำประปาหมู่บ้าน ซึ่งระบบประปาก็ตั้งอยู่ติดกับสระน้ำ ที่อยู่ห่างจากบ่อเก็บกักแร่แห่งที่ 2 ของเหมืองทอง ประมาณ 2-3 กิโลเมตรเท่านั้น

“เหมืองปิด ไม่มีฝุ่นละออง แต่หลังจากใช้น้ำประปาหมู่บ้านอาบวันนี้ก็ยังคันตามร่างกาย จึงไม่มั่นใจว่า สารพิษต่างๆ จะสะสมอยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำ หรือสะสมสารอยู่ในร่างกายกันแน่”


กำลังโหลดความคิดเห็น