xs
xsm
sm
md
lg

แฉเรือดูดทรายเถื่อนเกลื่อนน้ำโขงท่าอุเทน จี้มหาดไทยจัดการด่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลท่าอุเทน จ.นครพนม พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบกิจการเรือดูดทราย ในพื้นที่ อ.ท่าอุเทน
นครพนม - นายกเล็กท่าอุเทนโวยเรือดูดทรายผิดกฎหมา เกลื่อนพื้นที่ เหตุเจ้าหน้าที่ละเลยจนกระทบชุมชน เกิดปัญหาฝุ่นคลุ้ง ถนนเสียหาย เหตุนายทุนใช้ช่องว่างกฎหมายกอบโกยหาผลประโยชน์ จี้กระทรวงมหาดไทยจัดการปัญหาด่วน

วันนี้ (1 พ.ค. 62) นายกานต์ แก้วมาตย์ นายกเทศมนตรีตำบลท่าอุเทน จ.นครพนม พร้อมเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องนำสื่อมวลชนลงพื้นที่ตรวจสอบ กรณีมีชาวบ้านร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาผู้ประกอบการดูดทรายในพื้นที่ อ.ท่าอุเทน ฉวยโอกาสลักลอบดูดทรายผิดกฎหมาย ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งเกิดปัญหาทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงสร้างมลภาวะหมอกควัน ฝุ่น ของรถบรรทุกทราย รวมถึงบรรทุกน้ำหนักเกิน ส่งผลให้ถนนหนทางในชุมชนเสียหาย

ก่อนหน้าเคยเรียกร้องให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง รวมถึงจังหวัดนครพนมให้ตรวจสอบแก้ไข แต่ไม่มีความชัดเจน จึงต้องการสะท้อนปัญหาไปยังรัฐบาล รวมถึงกระทรวงมหาดไทยให้ตรวจสอบจริงจัง วางแนวทางปฏิบัติที่มาตรฐานการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการท่าทราย ป้องกันฉวยโอกาสใช้ช่องว่างกฎหมายกอบโกยผลประโยชน์ของกลุ่มนายทุน ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีส่วนตรวจสอบกำกับดูแล รวมถึงไม่มีแนวทางจัดเก็บรายได้เข้าท้องถิ่นที่ชัดเจน แต่ปล่อยให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน

จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ปัจจุบันพื้นที่ อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เป็นโซนนิ่งที่ยังเปิดให้ดำเนินกิจการดูดทราย ภายใต้ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการอนุญาตให้ดูดทราย พ.ศ. 2546 รวมถึงการอนุญาตให้ดูดทราย ตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2556 โดยผ่านการพิจารณาของ กพด.หรือคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตให้ดูดทราย ซึ่งมีผู้ประกอบการรวม 20 ราย แต่ยังอยู่ระหว่างพิจารณาตรวจสอบ ต่อใบอนุญาตในปี 2562 แต่ปล่อยให้สามารถดำเนินการดูดทราย จนกว่าจะมีการพิจารณาแล้วเสร็จจากส่วนกลาง

ด้านนายกานต์ แก้วมาตย์ นายกเทศมนตรีตำบลท่าอุเทน จ.นครพนม กล่าวว่า ปัจจุบันการกำกับดูแลผู้ประกอบการท่าทรายยังไม่ชัดเจน รวมถึงไม่มีการบังคับใช้กฎหมายที่แน่นอน ทั้งระเบียบปฏิบัติขั้นตอนการอนุญาต ทำให้ผู้ประกอบการบางรายฉวยโอกาสกอบโกยผลประโยชน์ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าปัจจุบันผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการได้ ตามมาตรา 9 ของประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2556 ทำให้ผู้ประกอบการหันไปใช้ช่องว่างขออนุญาตนำเข้าแทน

แต่ไม่มีการดูแลของศุลกากร รวมถึงหน่วยงานเกี่ยวข้อง ปล่อยให้ดำเนินการตามความพอใจ สร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงทิ้งปัญหาให้ท้องถิ่น ในส่วนของเทศบาลตำบลท่าอุเทนไม่มีส่วนดูแล รวมถึงจัดเก็บภาษี แต่ต้องคอยแก้ปัญหาความเดือดร้อนผลกระทบต่อชุมชน สุดท้ายฝากกระทรวงมหาดไทยเร่งแก้ไขปัญหา อย่าทิ้งปัญหาให้ชุมชน ทั้งจังหวัด หน่วยงานที่ดิน กรมเจ้าท่า และศุลกากร ต้องมาตรวจสอบดูแล


กำลังโหลดความคิดเห็น