ประจวบคีรีขันธ์ - ตื่นตาตื่นใจ ทั้งครู ลูกศิษย์ พบเต่ากระขนาดใหญ่ว่ายหากินอยู่บริเวณแนวปะการังลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า แหล่งทดลองการปลูกปะการัง รวมทั้งยังพบกับฉลามวาฬ ขณะพานักเรียนดำน้ำ Scuba Diving บริเวณอ่าวมุก เกาะทะลุ
วันนี้ (29 เม.ย.) ขณะที่ นายสัญญา หรือครูบอย ศรีมาลา อายุ 49 ปี ไดรฟ์มาสเตอร์ ครูสอนดำน้ำ เกาะทะลุไฮแลนด์รีสอร์ท อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ กำลังพานักเรียนดำน้ำแบบ Scuba Diving ลงไปดำน้ำดูความสวยงามของโลกใต้ท้องทะเล ทั้งแนวปะการังและสิ่งมีชีวิตต่างๆ อยู่นั้น ขณะที่ลงไปความลึกประมาณ 8-9 เมตร ด้านหน้าอ่าวมุก ของเกาะทะลุไฮแลนด์รีสอร์ท ก็พบเห็นเต่ากระขนาดใหญ่ เข้ามาว่ายหากินอยู่บริเวณแนวปะการังลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า
ซึ่งตนเองจึงได้ทำการบันทึกภาพเต่ากระขนาดใหญ่เอาไว้ เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้แก่ทางมูลนิธิฯ ต่อไป โดยส่วนใหญ่นักเรียนดำน้ำลึกที่มาเรียนที่นี่ ทางเรานอกจากสอนการดำน้ำลึกแล้ว เรายังได้พานักเรียนดำน้ำในทุกรุ่นที่สอนไปดูแปลงอนุบาลปะการังในท่อพีวีซี ที่ได้ผล รวมทั้งให้ข้อมูลถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลในบริเวณเกาะทะลุ ควบคู่กันไปด้วย
ทุกคนที่มาดำน้ำรู้สึกตื่นเต้นและดีใจที่ได้พบเห็นสัตว์ทะเลหายากอย่างฉลามวาฬ และเต่ากระขนาดใหญ่ รวมทั้งสัตว์น้ำอีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นทากปุ่ม ปลาปักเป้า หมึกระดอง ที่บริเวณเกาะทะลุ ซึ่งเป็นอีกตัวชี้วัดที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลแถบนี้
นายเผ่าพิพัธ เจริญพักตร์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด เกาะทะลุไฮแลนด์รีสอร์ท ในฐานะเลขามูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม กล่าวว่า บริเวณดังกล่าวทางมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นำลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าลงไปวางไว้ในพื้นทรายในทะเล และทดลองย้ายกิ่งปะการังที่ปลูกไว้ในท่อพีวีซีในแปลงปลูกปะการังส่วนหนึ่ง มาปลูกบนฐานลูกถ้วย เมื่อปี 2560
เพื่อเป็นการพัฒนารูปแบบการฟื้นฟูปะการังในอนาคต โดยทางมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม และครูสอนดำน้ำของเกาะทะลุไฮแลนด์ รีสอร์ท รวมทั้งตนเองมีการลงไปดำนำสำรวจ และเก็บข้อมูลบริเวณแปลงปลูกปะการังที่มีลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า มาโดยตลอด พบว่า พื้นที่ดังกล่าวเริ่มมีสัตว์น้ำเข้ามาอาศัยอยู่ รวมไปถึงปะการังเริ่มเจริญเติบโตอย่างเห็นได้ชัดเจน
นอกจากนั้น ในช่วงเดือนพฤษภาคม เป็นต้นไปจะเริ่มเข้าสู่ฤดูวางไข่ของเต่ากระที่เกาะทะลุ ซึ่งในแต่ละปีจะมีแม่เต่ากระขึ้นมาวางไข่ประมาณ 1,000 ฟองขึ้นไป โดยทางเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ และพนักงานของทางรีสอร์ตก็ช่วยกันย้ายไข่เต่ากระมาไว้ในหลุมที่ปลอดภัย จนกระทั่งเพาะฟักตามธรรมชาติออกมาและนำมาเลี้ยงดูในบ่อนุบาลที่มีอยู่
หลังจากมีสุขภาพแข็งแรง และมีอายุ 1 ปีขึ้นไป ก็จะปล่อยกลับคืนสู่ท้องทะเล โดยแต่ละปีทางมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม ได้ปล่อยลูกเต่ากระที่มีสุขภาพแข็งแรงคืนลู่ท้องทะเลเป็นรุ่นๆ รวมแล้วเฉลี่ยปีละกว่า 500-1,000 ตัวมาอย่างต่อเนื่อง