เชียงราย - หอการค้าฯ ร่วมกับจังหวัดฯ ดันเปิดเส้นทางบินเชื่อมตองจี-รัฐฉาน ที่กำลังพัฒนาเป็นสนามบินนานาชาติ คาดทดลองนำร่องได้เดือนมิถุนายนนี้
น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย และประธานหอการค้า อ.แม่สาย เปิดเผยว่า หอฯเชียงราย ร่วมกับจังหวัดฯ ได้วางแผนจัดโครงการบินทดลองนำร่องระหว่างเชียงราย-รัฐฉาน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 62 นี้ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเชียงราย และประเทศเพื่อนบ้านกันอีกทางหนึ่ง
เชียงรายมีท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ต.บ้านดู่ อ.เมืองเชียงราย เปิดให้บริการการบินตลอด 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว ขณะที่สายการบินต่างๆ ไปใช้บริการอย่างต่อเนื่องทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่พม่ามีสนามบินนานาชาติอยู่ 3 แห่ง คือ กรุงเนย์ปิดอว์ กรุงย่างกุ้ง รวมทั้งที่เมืองมัณฑะเลย์ แต่ล่าสุดกำลังพัฒนาสนามบินเฮโฮ เมืองตองจี-เมืองเอกของรัฐฉาน ให้เป็นสนามบินนานาชาติด้วย
ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่จะเพิ่มเส้นทางการบินจากเชียงรายไปรัฐฉาน เพราะแม้ว่าท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จะมีการเชื่อมเส้นทางกับนานาชาติ แต่ส่วนใหญ่เป็นการบินจากจีนเท่านั้น ขณะที่ในรัฐฉานมีประชากรกว่า 10 ล้านคน ซึ่งสามารถบินมาใช้บริการด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านสุขภาพที่เชียงรายได้
เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจชายแดนเชียงรายขณะนี้อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โรงแรมในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ตรงข้าม อ.แม่สาย ที่มีกว่า 300 แห่ง ก็มีคนเข้าพักน้อย ขณะที่การท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักของเขาเพราะสินค้าอุปโภคบริโภค สุขภาพ ฯลฯ ล้วนนำเข้าจากฝั่งไทยทั้งสิ้น จึงควรเปิดทำเรื่องขอผ่านแดนได้ที่ด่านพรมแดนได้เลยทั้งฝั่งขาเข้าเมืองและออกเมือง ซึ่งก็จะทำให้การท่องเที่ยวย่านนี้มีความคึกคักขึ้นตามมา
น.ส.ผกายมาศกล่าวต่อว่า ประเทศเพื่อนบ้านเป็นตลาดขนาดใหญ่ของเรา อยากให้รัฐบาลขณะนี้ และในอนาคตช่วยสนับสนุนเส้นทางคมนาคมในรัฐฉานเพื่อให้เกิดการขนส่งสินค้าได้สะดวกมากขึ้น ส่วนทางเรือในแม่น้ำโขงที่สามารถเชื่อมการค้าตรงถึงจีนผ่านเมืองท่ากวนเหล่ย มณฑลยูนนาน ก็อยากให้มีการทำข้อตกลงกับจีนเพื่อให้ขนส่งสินค้าได้เพิ่มขึ้น เพราะการขนส่งทางเรือใช้ต้นทุนต่ำกว่า ขณะที่เส้นทางผ่าน อ.เชียงของ เข้าสู่ สปป.ลาว และไปจีนตอนใต้ พบว่ายังต้องพบกับระเบียบที่แตกต่างกันของ 2 แขวงใน สปป.ลาว
สำหรับการค้าระหว่างเชียงรายกับรัฐฉาน ในปี 2561 ที่ผ่านมามีมูลค่ารวม 9,876,728,160.07 บาท แยกเป็นส่งออกมูลค่า 9,578,763,853.09 บาท และนำเข้ามูลค่า 297,964,306.98 บาท สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค น้ำมันเชื้อเพลิง วัสดุก่อสร้าง ฯลฯ ส่วนสินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าทางการเกษตร