xs
xsm
sm
md
lg

โตได้อีก! ยางพาราไทยทะลักผ่านน้ำโขง-R3a เข้าจีนเฉียดแสนตัน/ปีแล้ว แต่ตลาดยังรับไม่อั้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เชียงราย - ส่งออกยางพาราไทยเข้าจีน ผ่านเรือน้ำโขง-ถนน R3a คึกคัก จีนยังรับซื้อไม่อั้น ยันผลผลิตยางฯ เพื่อนบ้าน ทั้งรัฐฉาน-สปป.ลาว ไม่พอป้อนแถมคุณภาพต่ำกว่า แต่ยางไทยมีปัญหาต้นทุนค่าธรรมเนียมส่งออก กก.ละ 2 บาท

ขณะนี้การส่งออกยางพาราจากไทยไปตลาดจีน ผ่านเรือขนส่งในแม่น้ำโขง และเส้นทาง R3a ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งตามสถิติการค้าผ่านด่านศุลกากรเชียงแสน จ.เชียงราย ปีงบประมาณ 2561 ที่ผ่านมา มีการส่งออกยางพาราผ่านท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสน แห่งที่ 2 รวมกว่า 92,010 ตัน มูลค่า 2,957,822,418.67 บาท และด่านศุลกากรเชียงของ ผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขงไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 ไปยังแขวงบ่อแก้ว และแขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว อีก 26,934.782 ตัน มูลค่า 1,498,845,166 บาท

แต่การส่งออกสินค้าไทยโดยเฉพาะยางพารายังมีปัญหาเรื่องต้นทุน เนื่องจากจีนจะให้สิทธิพิเศษทางภาษีกับประเทศที่มีพรมแดนติดกัน เช่น สปป.ลาว และพม่า ขณะที่ไทยไม่มีพรมแดนติดกับจีนทำให้การส่งออกไปโดยตรงมีต้นทุนการผ่านแดนสูงกว่า นอกจากนี้ สินค้ายางพาราต้องบวกต้นทุนค่าธรรมเนียมส่งยางพาราออกนอกราชอาณาจักร (Cess) การยางแห่งประเทศไทย อีกกิโลกรัมละ 2 บาทด้วย
น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย (เสื้อดำ)
น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย ฝ่ายกิจการค้าชายแดน เปิดเผยว่า ช่วง 10 ปีมานี้ทางการจีนได้ส่งเสริมให้ประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ติดจีนปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อป้อนผลผลิตเข้าตลาดจีน และลดปัญหาเรื่องยาเสพติด ให้เอกชนรายใหญ่ระดับต้นๆ ของจีนเข้าไปตั้งกิจการรับซื้อตามตะเข็บชายแดน ทั้งด้านที่ติดกับพม่า และ สปป.ลาว โดยมีเอกชนรายใหญ่ๆ หลายรายเข้าไปลงทุน

ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงเกิดการปลูกยางพารากันเป็นบริเวณกว้างในรัฐฉานของพม่า และแขวงบ่อแก้ว แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว เพราะบางรายต้องการยางพาราปีละกว่า 150,000 ตัน แต่ผลผลิตที่ได้ในปัจจุบันยังไม่พอต่อความต้องการ

น.ส.ผกายมาศกล่าวว่า นอกจากนี้ยางพาราในประเทศเพื่อนบ้านยังมีคุณภาพน้อยกว่ายางพาราไทย ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงมีผู้ประกอบการจีนพยายามเข้ามารับซื้อผลผลิตจากประเทศไทย ผ่านทางเรือสินค้าแม่น้ำโขง อ.เชียงแสน หรือถนน R3a ไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้

อย่างไรก็ตาม ผลผลิตจากประเทศไทยก็มีอุปสรรคเรื่องต้นทุนที่สูงกว่า เพราะยางพาราไทยต้องบวกค่าธรรมเนียมค่าธรรมเนียมส่งยางพาราออกนอกราชอาณาจักร (Cess)ของการยางแห่งประเทศไทยกิโลกรัมละ 2 บาท ดังนั้น ไม่ว่าราคายางฯ ในตลาดโลกจะขึ้นหรือลงอย่างไร การส่งออกยางพาราไทยก็ต้องบวกต้นทุนดังกล่าวไปด้วยเสมอ ทำให้สัดส่วนกำไรน้อยลง จนการส่งออกยางฯจากไทยเข้าจีนตอนใต้ หรือแม้แต่ผ่านช่องทางต่างๆ ยังไม่มากเท่าที่ควร

“อยากให้ระดับนโยบายของไทย ช่วยพิจารณาการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว อาจพิจารณาลด-งดค่าธรรมเนียมเพื่อการส่งออกเป็นเวลา 1 เดือนคล้ายเป็นช่วงโปรโมชัน เหมือนฟรีวีซ่า เชื่อว่าจะช่วยนำร่องไปสู่การส่งออกยางพาราไทยเข้าจีนได้คึกคักขึ้น เพราะตลาดจีนยังต้องการเข้ามาซื้อยางพาราจำนวนมหาศาลอยู่”


กำลังโหลดความคิดเห็น