ศูนย์ข่าวศรีราชา - กรมเจ้าท่า.. ออกคำสั่งด่วนให้ สนง.เจ้าท่าพัทยา ประสานเมืองพัทยาแก้ไขปัญหามวลน้ำไหลบ่าลงชายหาดซัดเม็ดทรายในโครงการเสริมทรายชายหาดไหลลงทะเล พร้อมวางแผนตั้งงบประมาณเติมทรายทุก 5-10 ปี แก้ปัญหาทรายหาย
วันนี้ ( 3 เม.ย.) นายเอกราช คันธโร ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ได้ออกมาเปิดเผยถึงการเกิดพายุฝนตกหนักในพื้นที่เมืองพัทยา อ.บางละมุงบ จ.ชลบุรี ในช่วงวานนี้และวันนี้จนทำให้มวลน้ำจำนวนมหาศาลไหลบ่าลงสู่พื้นที่ชายหาดเมืองพัทยา ทำให้ทรายที่นำมาเสริมตลอดแนวชายหาดพัทยาเหนือจรดพัทยาใต้ ในความกว้าง 35 เมตร ยาว 2.6 กิโลเมตร ที่ใช้ปริมาณทรายกว่า 4.6 แสน ลบ.ม. ได้รับความเสียหายว่า กรมเจ้าท่า ในฐานะเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายหาด ที่ใช้งบประมาณดำเนินการกว่า 400 ล้านบาทดำเนินโครงการถมทรายชายหาดจนแล้วเสร็จเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา จำเป็นจะต้องเร่งหาแนวทางแก้ไขเป็นการด่วน
และขณะนี้ได้มีคำสั่งด่วนให้สำนักงานเจ้าท่าพัทยา เร่งประสานเมืองพัทยาซึ่งเป็นหน่วยงานท้องถิ่น ร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยทราบว่าในช่วงค่ำวานนี้ทั้ง 2 หน่วยงาน ได้นำบุคลากรและเครื่องมือหนักรวมทั้งรถแบคโฮเข้าตักทรายในทะเลที่ถูกน้ำซัดออกห่างจากฝั่งประมาณ 100-200 เมตร เพื่อนำกลับมาเติมในร่องทรายและจุดที่ถูกน้ำเซาะ รวมจำนวน 11-12 จุด ซึ่งก็สามารถแก้ไขปัญหาไปได้ส่วนหนึ่งเท่า นั้น และคาดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์จึงจะสามารถคืนสภาพชายหาดให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้
“ ปัญหาน้ำหลาก เป็นปัญหาที่กรมเจ้าท่ารับทราบและเป็นห่วงมาตั้งแต่เริ่มโครงการหลังได้รับงบประมาณเมื่อปี 2557 แต่ด้วยปัญหาการกัดเซาะชายหาดพัทยาที่รุนแรงจึงต้องดำเนินการควบคู่กับเมืองพัทยา ที่มีแผนแก้ไขปัญหาน้ำหลากและน้ำท่วมชายหาด โดยได้ตั้งงบประมาณจำนวน 105 ล้านบาทเพื่อจัดทำระบบ ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มมีการประกวดราคาและจัดซื้อจัดจ้างผู้รับเหมาแล้ว คาดว่าจะดำเนินการได้ในเร็ววันนี้และจะสามารถจัดทำจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ได้ในระยะเวลา 1 ปี”
ส่วนปัญหาน้ำหลากจากฝั่งนั้น นายเอกราช ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับสภาพและร่วมมือกับเมืองพัทยาในการแก้ไข และอยู่ระหว่างรอให้โครงการป้องกันน้ำท่วมแล้วเสร็จ เนื่องจากชายหาดถือว่าทรัพย์ของแผ่นดินที่ต้องช่วยกันรักษาและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น
“ สำหรับความเสียหายคงมีไม่มากนัก แต่ด้วยมีน้ำหลากเกิดขึ้นหลายจุดจึงทำให้สภาพชายหาดดูแล้วเกิดความเสียหายมาก อย่างไรก็ตามปัญหาการกัดเซาะชายหาดในเมืองพัทยา มี 2 ปัจจัยคือ ปัญหาคลื่นลมทะเล และปัญหาน้ำหลากจากฝั่ง จึงมีข้อตกลงร่วมกับเมืองพัทยา ที่จะป้องกันและปรับสภาพ โดยคาดว่ากรณีเหล่านี้จะส่งผลให้ชายหาดพัทยาถูกน้ำกัดเซาะไปเฉลี่ยปีละประมาณ 2-5 เมตร แต่กรมเจ้าท่า ได้วางแผนระยะยาวไว้ว่าจะตั้งงบประมาณเพื่อเติมทรายครั้งใหญ่ในทุก 5-10 ปี” นายเอกราช กล่าว