xs
xsm
sm
md
lg

NGOs อีสานออกโรงร่วมต้าน คสช.สืบอำนาจ จี้แก้ รธน.คืนอำนาจให้ ปชช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พ.ต.อ.ภาคภูมิ พิสมัย ผกก.สภ.เมืองขอนแก่น เชิญตัวนายสิริศักดิ์ สะดวก พร้อมพวกไปสอบปากคำเพิ่มเติมที่โรงพัก
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - NGOs อีสานออกแถลงการณ์ต้าน คสช.สืบอำนาจ จี้แก้ รธน.คืนอำนาจให้ ปชช. อ้างชาวบ้านถูกปิดปากถูกข่มเหงไม่ให้ส่งเสียง จวก คสช.ประเคนนายทุนใช้นโยบายประชารัฐหาผลประโยชน์ทรัพยากรแผ่นดิน ด้านตำรวจบุกเชิญตัวไปโรงพัก

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. วันนี้ (30 มี.ค.) ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น ตัวแทนเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีสาน นำโดยนายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ ได้รวมตัวกันประมาณ 10 กว่าคนเพื่อประกาศแถลงการณ์ "แก้รัฐธรรมนูญ คืนอำนาจให้ประชาชน อีสานกำหนดอนาคตของตนเอง"

อย่างไรก็ตาม หลังจากอ่านแถลงการณ์เสร็จได้ไม่กี่อึดใจได้มีเจ้าหน้าที่ทหารจาก มทบ.23 และเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.เมืองขอนแก่น นำโดย พ.ต.ท.สุทัศน์ มีลุน สวป.สภ.เมืองขอนแก่น รวมกันแล้วนับสิบนายเดินทางมาแจ้งขอให้ยกเลิกการชุมนุม พร้อมกับเชิญตัวทั้งหมดไปสอบปากคำเพิ่มเติมที่ สภ.เมืองขอนแก่น ทั้งนี้เนื่องจากเป็นการชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 10 และมาตรา 14 เป็นการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม นายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ กล่าวว่า ไม่มีเจตนาจะกระทำผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เพียงแค่ต้องการมาอ่านแถลงการณ์ประกาศจุดยืนของพี่น้องประชาชนเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีสานเท่านั้น อ่านเสร็จก็จะแยกย้ายกันกลับ

สำหรับเนื้อความในแถลงการณ์ครั้งนี้ระบุว่า ตั้งแต่รัฐบาล คสช.เข้ามายึดอำนาจเป็นเวลากว่า 5 ปี และมีแนวโน้มจะสืบทอดอำนาจต่อ พี่น้องอีสานบ้านเราถูกปิดปาก ถูกข่มขู่ข่มเหงไม่ให้ส่งเสียง ในขณะที่รัฐบาล คสช. สถาปนาให้นายทุนใช้การเมืองและนโยบายประชารัฐเป็นเครื่องมือ พวกเขาคือผู้อยู่เบื้องหลังในการแก้รัฐธรรมนูญ และกฎหมายนับร้อยๆ ฉบับ ผลิตแผนการและนโยบายจากศูนย์กลางอำนาจเพื่อเปิดทางเข้าช่วงชิงทรัพยากรของอีสานมาสนองความโลภของนายทุน

พวกเขาหมายมั่นปั้นมือจะสร้างฐานอำนาจและแสวงหาผลประโยชน์ระยะยาวจากฐานทรัพยากรทุกอย่างที่อีสานเรามีเพื่อสร้างศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยเปิดทางให้นายทุนตั้งโรงงานน้ำตาล 29 โรงงาน พ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล และพ่วงด้วยอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ อีกหลายประเภทในอีสานทั้ง 13 จังหวัด แต่อุตสาหกรรมชีวภาพเป็นเพียงการหยั่งรากขั้นต้นของนายทุนรายใหญ่ไม่กี่รายที่จับมือกัน พวกเขาคิดการไกลกว่านั้น โดยตั้งเป้าหมายใหญ่ในการยึดป่าไม้ ขุดใช้แร่ธาตุ ปล้นชิงผืนดิน ปิดกั้นผันแม่น้ำ

ทั้งหมดนี้อ้างว่าเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่ผลประโยชน์ตกอยู่กับขั้วอำนาจของนายทุนภายใต้รัฐบาลทหาร โดยทิ้งให้พี่น้องอีสานทุกข์ทนอยู่กับความเดือดร้อน อยู่กับมลพิษและความเสื่อมทรามของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่นายทุนทิ้งไว้ไปชั่วลูกชั่วหลาน

ในแถลงการณ์ระบุต่อว่า จากนี้ไปพืชเชิงเดี่ยว-อ้อย กำลังจะแทนที่นาข้าวและป่าหัวไร่ปลายนาอีกไม่น้อยกว่า 10 ล้านไร่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เหมืองแร่ การบุกยึดที่ดินป่าไม้ ส.ป.ก. การจัดหาน้ำจากโครงการโขง-เลย-ชี-มูล และเขื่อนเพื่ออุตสาหกรรม การจัดหาพลังงาน-ไฟฟ้าเพื่อให้นายทุนใช้และขาย ทั้งหมดนี้ถูกบรรจุอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในรูปแบบ “ประชารัฐ” ซึ่งหน่วยงานราชการทุกหน่วยต้องปฏิบัติตามนโยบายของพรรคการเมือง รวมถึงการจัดทำงบประมาณที่มาจากเงินภาษีของเราก็ต้องอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อรับใช้นายทุนด้วย

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันที่รัฐบาล คสช. และประชารัฐทำทุกวิถีทางที่จะสืบทอดอำนาจและคุกคามอีสานบ้านเราไปมากกว่านี้ พวกเราเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสานในฐานะตัวแทนพี่น้องชาวอีสานขอประกาศว่า พวกเราจะหวงแหนปกป้องมรดกฐานทรัพยากร ถิ่นฐาน วิถีชีวิตของพวกเราให้ถึงลูกหลาน โดยพี่น้องเราจะต่อต้านการสืบอำนาจของ คสช. ต่อต้านระบอบประชารัฐนายทุนให้ถึงที่สุด

ทั้งนี้ พี่น้องเรายืนยันว่าจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ตัดบทบัญญัติ มาตรา 67 วรรคแรก ของรัฐธรรมนูญฯ 2550 ที่รับรองสิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม

รัฐธรรมนูญฯ 2560 ยังเปลี่ยนแปลงและลดทอนสิทธิของพี่น้องเราในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจด้านสิ่งแวดล้อม ในมาตรา 57 และ 67 ของรัฐธรรมนูญฯ 2550 ทำให้กระบวนการมีส่วนร่วมของพี่น้องในการเข้าถึงข้อมูลและการแสดงความคิดเห็นประกอบการตัดสินใจจำกัดอยู่แค่โครงการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงฯ เท่านั้น ในขณะที่รัฐธรรมนูญฯ 2550 รับรองสิทธิเอาไว้สำหรับโครงการหรือกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมฯ ในทุกระดับ

รวมทั้งรัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 58 ยังตัดกลไกการให้ความเห็นประกอบก่อนการอนุมัติอนุญาตโครงการหรือการดำเนินการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงฯ โดยองค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพซึ่งเคยมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 67 วรรคสองทิ้งไปด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น