ศูนย์ข่าวศรีราชา - สองกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ ร่วมชิงท่าเรือแหลมฉบังระยะ 3 ปตท. ส่ง พีทีที แทงค์ ร่วม กัลฟ์ เผยทั้งสองราย มีศักยภาพและประสบการณ์ด้านการบริหารท่าเรือขนาดใหญ่ระดับโลก ย้ำอีกครั้ง จำเป็นต้องเกิด เพราะไม่เกิน 5 ปี แหลมฉบังเกิดขีดความสามารถที่จะรองรับ
เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) เผยว่าวันนี้ (29 มี.ค.) ซึ่งเป็นวันที่กำหนดให้มีการยื่นซองเอกสารเพื่อเข้าประกวดราคา ร่วมพัฒนาโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ระหว่างเวลา 09.00 น-12.00 น. หลังจากหมดเวลาการยื่นซองปรากฏว่ามี ผู้มายื่นสองกลุ่มบริษัทคือรายแรกทีมายื่นคือ กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จากัด (มหาชน) และ บริษัท China Harbour Engineering Commpany Limited
ส่วนรายที่ 2 กลุ่มกิจการร่วมค้า NPC ประกอบด้วย Associate Infinity Co.,Ltd. (บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด), Nattalin Co.,Ltd. (บริษัท นทลิน จำกัด), Prema Marine Pub Co.,Ltd. (บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน)), PHS Organic Healing.Ltd. (บริษัท พีเอชเอส ออแกนิค ฮิลลิ่ง จำกัด), China Railway Construction Corporation Limited
หลังจากนั้นในเวลา 13.00 น. คณะกรรมการคัดเลือกฯ ทำการตรวจสอบคุณสมบัติซองที่ 1 ครบตามที่กำหนด และทำการเปิดซองที่ 2 ต่อทันที อยู่ระหว่างการพิจารณา จากนั้นจะทยอยเปิดซองที่ 3- 5 ในเดือนเมษายน และจะพิจารณาให้ผู้เสนอผลตอบแทนสูงสุดเป็นผู้ชนะ ซึ่งคาดว่าจะประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูล ในวันที่ 11 เม.ย. ก่อนจะเสนอคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาพตะวันออก(อีอีซี )เพื่อนำเสนอครม.ต่อไป
อย่างไรก็ตามมั่นใจว่า ทั้งสองกลุ่มที่มายื่นซองก็เป็นกลุ่มบริษัทที่มีความศักยภาพทั้งสองกลุ่ม มีประสบการณ์ด้านการบริหารท่าเรือขนาดใหญ่ระดับโลกเป็นกลุ่มที่ทางเราก็คาดหวังว่าพวกเขาน่าจะมาร่วมประมวล อยู่แล้ว เนื่องจากโครงการพัฒนาท่าเรือระยะที่ 3 เป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง และต้องมีความแข็งแกร่งเฉพาะด้าน ดังนั้นจึงไม่มีบริษัทใดที่จะสามารถทำงานโดยลำพังได้ เป็นกลุ่มที่ทางเราก็คาดหวังว่าพวกเขา น่าจะมาร่วมประมวล อยู่แล้ว ซึ่งในวันนี้ถือว่าผ่านไปได้ด้วยดี เป็นที่น่าพอใจ
เรือโทกมลศักดิ์ กล่าวอีกว่า โครงการแหลมฉบังระยะที่ 3 จำเป็นต้องเกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อให้สามารถเปิดบริการได้ในปี 66 เพราะตัวเลขล่าสุดปี 61 แหลมฉบังเฟส 1และเฟส 2 มีตู้สินค้าผ่านท่าถึง 8 ล้านทีอียู ขณะที่ความสามารถในการรองรับตู้สินค้าทั้งหมดได้ประมาณ 11 ล้านทีอียู และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละ3-4% หรือประมาณ 400,000 ตู้ ดังนั้นอีกไม่เกิน 5 ปี จะเกินความสามารถที่รองรับได้และจะเกิดปัญหาความแออัดทันที
ทั้งนี้โครงการพัฒนาแหลมฉบังระยะที่ 3 จะเพิ่มขนาดท่าเรือให้ใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับเรือสินค้าที่มีขนาด 24,000 ทีอียูได้จากเดิมที่แหลมฉบังเฟส 2 รองรับเรือสินค้าขนาด 18,000 ทีอียู ถือว่าเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งจะมีแนวโน้มการเติบโตสูงขึ้น และผลักดันให้แหลมฉบัง ขยับอันดับท่าเรือระดับโลกที่ปัจจุบันอยู่ที่อันดับ 20 ให้ดีขึ้น