ศูนย์ข่าวขอนแก่น - “หลวงพ่ออินทร์ถวาย” เจิมเครื่องฉายแสงฯพิธีทำบุญศูนย์รังสีรักษาและเคมีบำบัด รพ.ขอนแก่น เพื่อให้บริการผู้ป่วยมะเร็งได้แม่นยำมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมถือฤกษ์เปิดศูนย์รักษ์เต้านมบริการผู้ป่วยแบบครบวงจร
เช้าวันนี้ (29 มี.ค.) ณ อาคารหลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก ถนนศรีจันทร์ อ.เมืองขอนแก่น โรงพยาบาลขอนแก่น ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธีจัดงานทำบุญศูนย์รังสีรักษาและเคมีบำบัด ในโอกาสนี้ หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก เจ้าอาวาสวัดป่านาคำน้อย อ.นายูง จ.อุดรธานี เป็นผู้ทำพิธีเจิมเครื่องฉายแสงและเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ห้องที่ 2 โดยมีสาธุชนชาวขอนแก่นและศิษยานุศิษย์ร่วมนมัสการร่วมงานพิธีจำนวนมาก
นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากและเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของประเทศ วิธีการรักษาโรคมะเร็งมีทั้งการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี ทางโรงพยาบาลขอนแก่นจึงได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบบริการโรคมะเร็งเพื่อการเข้าถึงบริการรังสีรักษา และพัฒนาระบบบริการสุขภาพและการแพทย์แบบบูรณาการ ผสมผสานเป็นองค์รวม ต่อเนื่อง ครอบคลุม
นพ.ชาญชัยกล่าวว่า การเป็น Excellent Center ด้านมะเร็ง ด้วยการจัดระบบบริการผู้ป่วยมะเร็งแบบครบวงจร ด้วยการจัดตั้งและก่อสร้างอาคารเฉพาะทางโรคมะเร็งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ชื่ออาคารรังสีและเคมีบำบัด หลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก โดยในเบื้องต้นมีเครื่องฉายแสงเพียง 1 เครื่อง เปิดให้บริการฉายรังสีแก่ผู้ป่วยด้วยเทคนิคทั่วไปตามมาตรฐาน เพื่อมุ่งเน้นลดระยะเวลารอคอยการรักษาให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาเร็วที่ขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอ
ต่อมาในปี 2561 ทางโรงพยาบาลขอนแก่นได้รับการอนุมัติงบประมาณให้ดำเนินการจัดซื้อเครื่องฉายรังสีเพิ่ม ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง มีความแม่นยำและสามารถดำเนินการฉายเทคนิคที่มีความซับซ้อนได้เป็นอย่างดี เพื่อให้เพียงพอต่องานบริการ อีกทั้งยังพบรอยโรคที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเช่นกัน ถือเป็นการยากที่จะสามารถใช้เทคนิคการฉายทั่วไปกับรอยโรคที่ซับซ้อนเหล่านี้
สำหรับเครื่องฉายรังสีรักษาเครื่องที่ 2 มีมูลค่า 130 ล้านบาท และเครื่องซีทีสแกนสำหรับวางแผนการรักษามูลค่า 30 ล้านบาท โดยมีส่วนประกอบสำคัญๆ ที่ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการรักษามากกว่าเครื่องเดิม เช่น 1. สามารถกำหนดลำรังสีให้มีรูปร่างต่างๆ ได้ละเอียดและรวดเร็ว เหมาะต่อการประยุกต์ใช้ในการฉายเทคนิคสำคัญต่างๆ 2. สามารถให้อัตราความเข้มรังสีสูงในเวลาสั้นๆ ซึ่งมีความเหมาะสมกับการใช้งานการที่ฉายแสงที่ต้องให้ปริมาณรังสีในครั้งเดียวแบบสูงๆ เช่น การผ่าตัดทางรังสี
3. มีชุดถ่ายภาพแบบซีทีสแกนที่ตัวเครื่องฉายแสง ซึ่งสามารถถ่ายภาพอวัยวะต่างๆ เพื่อเช็กตำแหน่งผู้ป่วยและตำแหน่งของโรคก่อนการลงมือฉายแสงได้ และยังสามารถตรวจจับภาพอวัยวะที่เคลื่อนไหวได้ด้วย สามารถฉายแสงอวัยวะที่เคลื่อนที่ตลอดเวลาได้แม่นยำและได้ผลดีขึ้น และ 4. มีชุดควบคุมการเคลื่อนที่ของเตียงผู้ป่วยแบบ 6 มิติ สามารถเคลื่อนเตียงฉายได้ใน 6 ทิศทาง ดังนี้ หน้า-หลัง ซ้าย-ขวา บน-ล่าง กระดกซ้าย-ขวา กระดกหน้า-หลัง และหมุนตาม-ทวนเข็มนาฬิกา เพื่อเลื่อนให้ตำแหน่งอวัยวะที่ต้องการฉายรังสีอยู่ในตำแหน่งและมุมที่ถูกต้องตามการวางแผน
“ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้ ทำให้เราสามารถรักษาผู้ป่วยด้วยเทคนิคพิเศษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การฉายรังสีแบบสามมิติ สี่มิติ เทคนิคการฉายรังสีปรับความเข้มของรังสีแบบหมุนรอบตัวผู้ป่วย การฉายรังสีแบบให้ความเข้มรังสีได้สูงมากกว่าปกติหรือศัลยกรรมรังสีเพื่อมุ่งทำลายก้อนมะเร็งแบบเฉียบพลัน โดยเครื่องนี้สามารถทำได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ” นพ.ชาญชัยกล่าว และว่า
นอกจากนี้ ในเช้าวันเดียวกันยังได้จัดพิธีเปิดศูนย์เต้านม ณ อาคารคุณากรปิยชาติ ชั้น 1 โรงพยาบาลขอนแก่น เพื่อรองรับผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมแบบครบวงจรอีกด้วย ซึ่งโรคมะเร็งเต้านมคือมะเร็งที่พบมากที่สุดในสตรีทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยและผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลขอนแก่น การได้รับการวินิจฉัยโรคและการรักษาที่รวดเร็ว สามารถเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคได้สูงมากในปัจจุบัน รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการรักษาแบบเก็บเต้านมไว้ได้
โรงพยาบาลขอนแก่นจึงได้ก่อตั้งศูนย์มะเร็งเต้านมแบบครบวงจรขึ้นมา ซึ่งตอนนี้พร้อมให้บริการแก่ประชาชนแล้ว โดยตั้งชื่อว่า “ศูนย์รักษ์เต้านม โรงพยาบาลขอนแก่น Khon Kaen Breast Care Center : KKBC”
ขอบคุณข้อมูล-ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รพ.ขอนแก่น