xs
xsm
sm
md
lg

“เวิร์น อันสเวิร์ธ” นำทีมเข้า “เนินนมสาว ถ้ำหลวง” ปภ.ระดมคน 300 เก็บกู้อุปกรณ์ช่วย 13 หมูป่าฯ รอบ 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เชียงราย - “เวิร์น อันสเวิร์ธ-นักสำรวจถ้ำชาวอังกฤษ” นำทีมมุดเข้าถ้ำหลวง สำรวจ-เก็บข้อมูลให้ถึงเนินนมสาวอีกรอบ ขณะที่ ปภ.ระดมกำลัง 300 นายเปิดปฏิบัติการเก็บกู้อุปกรณ์ช่วย 13 หมูป่าฯ รอบ 2 ระหว่าง 26-29 มีนาฯ นี้

วันนี้ (26 มี.ค.) พล.ร.อ.ปวิตร รุจิเทศ ผอ.ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน 904 ได้เป็นประธานเปิดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนา ณ บริเวณถ้ำหลวง อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยได้ระดมกำลังจิตอาสาแบ่งกลุ่มออกทำความสะอาด 3 จุดใหญ่ๆ คือ ลานหน้าถ้ำหลวง และถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน และจุดจอดเฮลิคอปเตอร์

นอกจากนี้ พล.ร.อ.ปวิตรยังได้รับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับการเก็บกู้ทรัพยากรที่ตกค้างภายในถ้ำหลวงระหว่างวันที่ 18-20 มี.ค.ที่ผ่านมา และกำลังปฏิบัติการอยู่ในช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 26-29 มี.ค.นี้ ขณะเดียวกัน กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จ.เชียงราย ได้ปิดการท่องเที่ยวบริเวณถ้ำหลวงชั่วคราว ระหว่าง 26-29 มี.ค.นี้ เพื่อเปิดให้เจ้าหน้าที่เก็บกู้อุปกรณ์กู้ภัยที่ยังตกค้างอยู่ภายในถ้ำหลวง


โดยปฏิบัติการครั้งนี้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่กว่า 300 นายจาก ปภ., ทหารจาก ร.17 พัน.3 ในพระองค์ฯ, มณฑลทหารบกที่ 37 องค์กรหรือมูลนิธิสาธารณกุศลต่างๆ รวมทั้งภาคเอกชนเจ้าของอุปกรณ์บางชิ้นที่เคยขนไปช่วยเหลือในปฏิบัติการช่วยชีวิต 13 หมูป่าฯ ร่วมปฏิบัติการด้วย

ทั้งนี้ พบว่าอุปกรณ์กู้ภัยที่ยังคงค้างอยู่ภายในถ้ำมีทั้งท่อน้ำขนาดใหญ่-ขนาดเล็ก ที่ใช้สูบน้ำออกจากถ้ำหลวงช่วงปฏิบัติการช่วยหมูป่าฯ, สายไฟขนาดใหญ่ที่ทอดยาวตั้งแต่ปากถ้ำถึงโถงที่ 3 ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร กว่า 10 เส้น แต่ละเส้นมีความยาวกว่า 1,000 เมตร และบางส่วนจมทราย รวมทั้งมีสภาพแข็ง ทำให้การเก็บกู้และขนย้ายออกมาเป็นไปด้วยความยากลำบาก

นายไพฑูรย์ นาคแท้ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เขต 15 ซึ่งทำหน้าที่ผู้บัญชาการการปฏิบัติการเก็บกู้ทรัพยากร เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 18-20 มี.ค.ที่ผ่านมา หน่วยซีล กองทัพเรือ พร้อมเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปเก็บกู้อุปกรณ์รอบแรกออกมาแล้ว เช่น ถังออกซิเจน วิทยุสื่อสาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สายไฟฟ้า ท่ออากาศ ฯลฯ

สำหรับช่วงที่ 2 นี้ กำหนดระยะเวลาดำเนินการเอาไว้ 4 วัน แต่ตนก็ยังไม่แน่ใจว่าจะทำได้เสร็จหรือไม่ เพราะภายในถ้ำยังมีอุปกรณ์ต่างๆ ที่เป็นอุปกรณ์หนัก โดยเฉพาะเครื่องสูบน้ำ หนักตั้งแต่ 50-160 กิโลกรัม ซึ่งต้องใช้คนขนเครื่องละ 4-10 คน ผ่านทางเดินถ้ำ ซึ่งตอนขนเข้าไปมีน้ำช่วยพยุง แต่เมื่อตอนนี้น้ำแห้งหมดแล้ว ต้องใช้แรงคนขนด้วยความความระมัดระวังเพราะเป็นอันตรายมาก


นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์เฉพาะที่ต้องให้ผู้บริจาค เช่น บริษัท ช.การช่าง ฯลฯ เข้าไปดู เปิด-ปิดเครื่อง และร่วมในการขนย้ายด้วย จึงได้มีการวางหลอดไฟตั้งแต่ปากถ้ำถึงสามแยกในถ้ำ รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ ปภ.ประจำตามจุดต่างๆ เพื่อสนับสนุนกำลังพลที่เข้าไปขน และให้คำแนะนำเป็นช่วงๆ จนกว่าจะขนอุปกรณ์ทั้งหมดออกมาแล้วเสร็จ

นายไพฑูรย์กล่าวอีกว่า ปัญหาอีกประการคือสายไฟฟ้าจำนวนมากที่อยู่ในสภาพแข็งตัว ทำให้เก็บกู้ได้ยากมาก และไม่สามารถตัดหรือแยกส่วนได้เหมือนท่อน้ำ แต่ต้องดึงออกมาพร้อมกันหมดทั้งเส้น รวมทั้งไม่สามารถใช้เครื่องดึงออกมาเพราะอาจไปเกาะเกี่ยวกับหินงอกหินย้อยภายในถ้ำ หรือทำให้เครื่องดึงเสียหายเสียก่อนได้

“หากพ้น 4 วันไปแล้วยังไม่เสร็จก็คงจะเปิดให้ประชาชนเข้าไปท่องเที่ยวที่ถ้ำหลวงได้ตามปกติ เพราะการปฏิบัติงานส่วนใหญ่จะเน้นภายในถ้ำที่ยังปิดปากถ้ำอยู่ ส่วนการจะพิจารณาขยายวันปฏิบัติงานนั้นจะประเมินหลังขนย้ายอุปกรณ์หนักออกมารอบแรกก่อนในเย็นวันที่ 27 มี.ค.นี้ก่อน ซึ่งอาจทิ้งสายไฟฟ้าบางส่วนเอาไว้ในถ้ำเพื่อเป็นอนุสรณ์เหตุการณ์”

วันเดียวกัน มิสเตอร์เวิร์น อันสเวิร์ธ นักสำรวจถ้ำชาวอังกฤษ ผู้มีบทบาทในการช่วยเหลือ 13 หมูป่าฯ ได้นำทีมเข้าไปสำรวจในถ้ำบริเวณหาดพัทยาหรือพัทยาบีชที่มีปัญหาทรายอุดตัน ก่อนถึงเนินนมสาว ที่ทีมหมูป่าฯเคยติดอยู่ ซึ่งเป็นจุดที่เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถเก็บกู้อุปกรณ์ได้ เพื่อจะได้เก็บหลักฐานเพิ่มเติมก่อนที่ทางกองอำนวยการฯ จะส่งมอบพื้นที่ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น