ศูนย์ข่าวศรีราชา - แรงงานชาวกัมพูชา ร้องสถานทูต ถูกนายจ้าง จ.ชลบุรี เบี้ยวค่าแรง และถูกจับกุมในระหว่างรอค่าแรง สถานทูตฯ เตรียมประสานกระทรวงแรงงานไทยเพื่ออุดช่องโหว่การรับแรงงานต่างด้าวเพื่อไม่ให้สร้างปัญหาต่อ
จากกรณีที่มีแรงงานชาวกัมพูชาและชาวเมียนมาร์ เกือบ 100 คน ร้องเรียนสถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรกัมพูชาโดยแจ้งว่าเป็นแรงงานผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี และถูกบริษัทฯปลดออกโดยไม่ทราบสาเหตุ พร้อมทั้งไม่จ่ายค่าแรงเฉลี่ยคนละประมาณ 8,000 - 28,000 บาท จึงรวมตัวกันขอเจรจากับทางบริษัท ฯ เมื่อวันที่ 12 มี.ค. แต่ไม่ได้รับการชี้แจงใดๆ จึงได้ร้องเรียนไปยังสถานทูตฯ และเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.ดอนหัวฬ่อ จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา ในระหว่างรอให้สถานทูตฯช่วยเหลือ ได้มีแรงงานถูกจับกุมตัวไป
ล่าสุดวันนี้ (21 มี.ค.) นายจันวิสาร เมย์ ที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน สถานเอกอัครราชฑูตราชอาณาจักรกัมพูชา ประจำประเทศไทย พร้อมคณะได้เดินทางมาที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อเจราจาขอให้ช่วยเหลือแรงงานชาวกัมพูชา ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนไกล่เกลี่ย แต่ถูกจับกุมมาที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ศรีราชา จำนวน 2 คน
โดยนายจันวิสาร กล่าวว่า ที่ผ่านมามีนายหน้ารับจัดหาแรงงานชาวกัมพูชาและเมียนมาร์ ให้มาทำงานในโรงงานที่ จ.ชลบุรี โดยรับปากจะเดินเรื่องเอกสารและหลักฐานต่างๆให้กับแรงงานเหล่านั้นให้ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศไทย โดยหักเงินจากแรงงานคนละ 8,000-10,000 บาท
หลังจากทำงานได้ระยะหนึ่ง ทางโรงงานแห่งนี้ ได้ไล่พนักงานทั้งหมดออกและไม่จ่ายค่าแรง ที่ติดค้างไว้ด้วย ทำให้แรงงานได้รับความเดือดร้อน จึงร้องเรียนไปยังสถานเอกอัครราชทูต ราชอาณาจักรกัมพูชา จากนั้นเจ้าหน้าที่ของสถานทูตฯ ได้เข้าไปตรวจสอบเพื่อคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งมีตัวแทนจากบริษัท และ ตัวแทนนายหน้า ร่วมเจรจา โดยทางบริษัทฯรับปากจะจ่ายเงินค่าจ้างที่ค้างไว้ ในวันที่ 20 มี.ค. นี้ และนัดจ่ายเงินค่าจัดทำเอกสารให้แต่ละรายจำนวน 8,000-10,000 บาท ในวันที่ 31 มี.ค. นี้
โดยในช่วงที่เลิกจ้างและรอรับเงินนั้น บริษัทนายหน้าแจ้งว่าพร้อมจะจ่ายค่าแรงให้กับแรงงานทุกคน คนละ 300 บาท โดยเมื่อถึงกำหนดจ่ายเงินในวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา แรงงานทุกคนมารอรับเงินค่าจ้างที่นายจ้างนัดไว้ ที่บริเวณสถานีดับเพลิงแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี แต่ในจังหวะนั้นได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาจับกุมตัวแรงงานดังกล่าวทันที
หลังแรงงานถูกจับกุม ทางสถานทูตฯ จึงได้เข้าเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจไว้เป็นหลักฐาน เพื่อให้การคุ้มครองแรงงานดังกล่าว ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจารอเงินจากนายจ้างในวันที่ 31 มี.ค. นี้ และหลังจากนั้นก็พร้อมจะเดินทางกลับประเทศทันที
นายจันวิสาร กล่าวว่า หลังจากนี้จะทำบัญชีรายชื่อของแรงงานที่เหลือส่งให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) อำเภอศรีราชา คุ้มครองแรงงานดังกล่าวที่เหลืออยู่เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ส่วนที่ถูกจับกุมไปแล้วนั้นจะถูกดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อผลักดันกลับประเทศต่อไป
“สำหรับปัญหาดังกล่าว เกิดขึ้นบ่อยครั้งมาก เนื่องจากไทยมีช่องว่างของกฎหมาย เพราะตามกฎหมายแล้วห้ามมีบริษัทซับคอนแทรคแรงงาน แต่ทางนายหน้าจัดหางานก็มีวิธีการโดยไม่ใช่เป็นบริษัทรับเหมาคนงาน แต่จัดการโดยการตั้งบริษัทของตนเองขึ้นมาเพื่อรับงานจากโรงงานมาทำ แล้วจ้างแรงงานเหล่านี้ทำงานให้ เมื่อชิ้นงานเสร็จก็ส่งงานคืนโรงงาน แต่รูปแบบดังกล่าวจะเป็นในลักษณะเดียวกันกับซับคอนแทรคแรงงาน ซึ่งเรื่องนี้ทางสถานทูตฯจะต้องเข้าหารือกับกระทรวงแรงงาน เพื่ออุดช่องโหวดังกล่าว เพื่อไม่ให้สร้างปัญหาต่อไป