ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เครือข่ายแก้ไขปัญหาหมอกควันเชียงใหม่ยื่นหนังสือผู้ว่าฯ เสนอแผนแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน, กลาง และยาว จากการระดมความคิดทุกภาคส่วน จี้นำไปสู่การปฏิบัติโดยเร็วสุด เผยผลวิจัยการแพทย์ชี้มลพิษอากาศทำคนเชียงใหม่อายุสั้นลง 4 ปี
วันนี้ (19 มี.ค. 62) ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ตัวแทนเครือข่ายแก้ไขปัญหาหมอกควันเชียงใหม่ นำโดย ดร.ณัฐสิทธิ์ ศรีนุรักษ์ นักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันยื่นหนังสือต่อ นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยหนังสือดังกล่าวเป็นคำแถลงการณ์ “แนวทางแก้ไขปัญหาหมอกควันเชียงใหม่ ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง ระยะยาว” ที่เป็นข้อสรุปจากการจัดประชุมระดมความเห็นในหัวข้อ “หมอกควันเชียงใหม่ แก้ไขอย่างไร” วานนี้ (18 มี.ค. 62) ซึ่งมีตัวแทนทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคราชการ, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดร.ณัฐสิทธิ์ระบุว่า ในช่วงหลายวันที่ผ่านมาจังหวัดเชียงใหม่ประสบปัญหาวิกฤตหมอกควันจนอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งพบว่ามีค่าดัชนีคุณภาพอากาศสูงกว่าระดับมาตรฐานเกือบ 20 เท่า โดยมลพิษทางอากาศที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็กทั้ง PM 10 และ PM 2.5 นั้น ได้รับการตรวจสอบจากองค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติแล้วว่าเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ รวมทั้งมีงานวิจัยทางการแพทย์ยืนยันด้วยว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาโรคร้ายที่ลดอายุของคนที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมของเชียงใหม่ลงถึง 4 ปี ซึ่งปัญหานี้ใหญ่เกินกว่าจะมองข้าม และต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังโดยด่วน
ทั้งนี้ เครือข่ายแก้ไขปัญหาหมอกควันเชียงใหม่ได้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนดังกล่าว และเป็นแกนกลางในการระดมความเห็นในการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน รวมถึงเพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นละอองให้มีการรับมือแก้ไขปัญหาและร่วมกันหาทางออกที่เหมาะสมอย่างจริงจัง โดยมีการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน รวบรวมจัดทำเป็นข้อสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งระยะเร่งด่วน, ระยะกลาง 1-3 ปี และระยะยาว 3 ปีขึ้นไป เสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เพื่อพิจารณานำไปปฏิบัติต่อไป
ขณะที่นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งรับหนังสือด้วยตัวเอง กล่าวว่า ขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะและแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและเป็นการแสดงออกของประชาชนที่มีส่วนร่วม และตระหนักในการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ ทั้งนี้ ยืนยันว่าทางจังหวัดเชียงใหม่ไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ไขปัญหา โดยมีการจัดทำแผนแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนและหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาวด้วย ซึ่งเร็วๆ นี้จะมีการจัดเวทีระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะนำไปสู่ทางออกของปัญหาร่วมกันในระยะยาว
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาหมอกควันเชียงใหม่ในหนังสือดังกล่าวนั้น ประกอบด้วย ระยะเร่งด่วน ได้แก่ ประกาศเป็นวาระเร่งด่วน ยกให้เป็นปัญหาขั้นวิกฤตของจังหวัดเชียงใหม่, ประกาศงดการเรียนการสอนในช่วงวิกฤตหมอกควัน, ส่งเสริมให้มีหน่วยเคลื่อนที่เร็วในการแจ้ง และเข้าช่วยระงับเหตุการเผาในพื้นที่, ติดตั้งเครื่องวัดค่าฝุ่นละอองในระดับ PM 2.5 ในทุกพื้นที่, ศูนย์รับแจ้งการเผา ต้องดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมง และตลอดปี และเมื่อมีการแจ้ง หน่วยงาน/เจ้าหน้าที่ต้องสามารถหาจุดที่ก่อเหตุได้ นำเครื่องมือที่มีอยู่ เช่น เครื่องวัดจุด Hotspot ตรวจดูเพื่อเข้าระงับ, มีมาตรการในการควบคุม และใช้กฎหมายที่จริงจัง เช่น ปรับเงิน หรือลดงบประมาณในพื้นที่ที่เกิดการเผาซ้ำซ้อน และให้เงินรางวัลนำจับแก่ผู้ที่แจ้งการเผา
สนับสนุน ส่งเสริมด้านวัสดุอุปกรณ์ เสบียง และสิ่งจำเป็น แก่เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครหน่วยดับไฟป่า, สร้างเครือข่ายออนไลน์ ที่สามารถแจ้งเหตุการเผา แจ้งระดมคนในพื้นที่ หรือใกล้เคียงไปช่วยดับไฟ, ขอความร่วมมือกับกองทัพอากาศ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำฝนเทียมในสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย, ภาครัฐต้องแจ้งเตือนระดับความอันตรายของฝุ่นควัน โดยแจ้งให้ประชาชนได้ทราบข้อมูลอย่างรวดเร็ว และแจกหน้ากากที่ป้องกันฝุ่นขนาด PM 2.5 ได้ พร้อมทั้งชี้ให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการใส่หน้ากาก, นำเสนอข้อมูลอันตรายของหมอกควันที่กระทบต่อสุขภาพ ให้ความรู้และติดตามดัชนีค่าฝุ่นโดยใช้มาตรฐานโลกโดยผ่านช่องทางสื่อสาธารณะและสื่อชุมชน เช่น เสียงตามสาย และขอความร่วมมือภาคเอกชนที่มีจอป้ายขนาดใหญ่ขึ้นข้อความที่แจ้งค่าฝุ่นละอองให้ประชาชนทราบ เพื่อให้คนตระหนักไม่เฉพาะช่วงที่เกิดปัญหาหมอกควัน หรือทำเป็น infographic หรือภาษาที่เข้าใจง่าย
ขอความร่วมมืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในแต่ละพื้นที่ลงชุมชนให้ความรู้แก่กลุ่มเสี่ยง (คนชรา เด็ก คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง) อย่างใกล้ชิด โดยใช้รูปแบบเดียวกับการรณรงค์ลูกน้ำยุงลาย, ควรลดค่าโดยสารของระบบขนส่งสาธารณะเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการระบบขนส่งมวลชนในช่วงวิกฤตหมอกควัน, จัดการระบบจราจรในพื้นที่เมืองบางส่วนโดยให้รถยนต์สลับวิ่งวันคู่ วันคี่ ตามเลขป้ายทะเบียนเพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวและหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ, ขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตรวจจับควันดำอย่างจริงจังและออกค้าสั่งให้งดการใช้รถที่มีควันดำเกินค่ามาตรฐานในช่วงวิกฤตหมอกควัน, ดูแล และควบคุมการก่อสร้างไม่ให้ก่อให้เกิดฝุ่นละออง ทั้งจากบริเวณพื้นที่ก่อสร้างและการขนส่งวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง
ส่วนระยะกลาง ที่เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาระยะ 1-3 ปี ได้แก่ บูรณาการหน่วยงานจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐ และองค์กรเอกชน เพื่อรวบรวมรายชื่อหน่วยงานและองค์ความรู้ เทคโนโลยี การสื่อสาร เพื่อน้าไปใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับสถานการณ์และการวางแผนในระยะยาว, ศึกษาค้นคว้าเพื่อค้นหาแหล่งกำเนิดควัน สามารถระบุข้อมูลสถานที่กำเนิดควัน ประเภทของการเผา และสัดส่วนของการเกิดหมอกควันแต่ละประเภทเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนแก้ไขปัญหาได้ถูกจุด, จัดการการเผาอย่างเป็นระบบ โดยวางแผนจัดการในช่วง 8 เดือน (พ.ค.-ธ.ค.) เพื่อให้ไม่เกิดวิกฤต 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) ทำข้อตกลงโดยใช้มาตรการสังคมที่จะร่วมมือกันไม่เผาในช่วงวิกฤตหมอกควัน มีอาสาสมัครท้องถิ่นช่วยสอดส่องแต่ละหมู่บ้าน ติดตามการเผาในท้องถิ่น ส่งเสริมกลุ่มป่าชุมชนและสอดส่องมีการจัดการเผาในพื้นที่บุกรุก ส่วนการเผาในภาคอุตสาหกรรมขอให้หน่วยงานที่ดูแลออกมาตรการควบคุมการเผา และบรรจุประเด็นสุขภาวะและสิ่งแวดล้อมของคนเชียงใหม่ 3 ปี ในแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยออกมาตรการที่เกี่ยวกับอากาศสะอาด การดูแลสิ่งแวดล้อม เพิ่มพื้นที่สีเขียว แผนการจัดการขยะ ติดตั้งเครื่องตรวจวัดฝุ่นในระดับชุมชน ตั้งเป้าให้คนเชียงใหม่มีสุขภาพที่ดีขึ้น ค่าฝุ่นลดลง และมีดัชนีชี้วัดที่ชัดเจน
ขณะที่ระยะยาว ที่เป็นแนวทางระยะ 3 ปีขึ้นไป ได้แก่ ผลักดันให้เรื่องหมอกควันเป็นวาระจังหวัด และวาระแห่งชาติ มีการวางแผนระยะยาว 10 ปี โดยบูรณาการหน่วยงานจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐ และองค์กรเอกชน รวมถึงใช้ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าแหล่งกำเนิดควันในการวางแผนปฏิบัติงานโดยตั้งเป้าลดมลพิษในแต่ละปีลงเป็นลำดับ และมีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานโดยตำแหน่ง, กระจายการใช้งบประมาณของกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไปสู่กลุ่มคนพิการ คนชายขอบ ต้องได้รับความรู้ และสิทธิในการได้รับหน้ากากป้องกันฝุ่น รวมถึงการรักษาพยาบาลเช่นเดียวกับคนทั่วไป ดูแลให้ได้รับสิทธิ รวมถึงส่งเสริมให้เข้าถึงเรื่องเครื่องป้องกัน และความปลอดภัยในชีวิต ในภัยพิบัติทุกเรื่อง ในพื้นที่เสี่ยง
พิจารณาย้ายสนามบินที่มีเที่ยวบินเพิ่มขึ้นทุกปีจนเกินศักยภาพที่จะรองรับได้ในปัจจุบัน ให้ออกไปตั้งอยู่นอกตัวเมืองเชียงใหม่ จัดให้มีระบบคมนาคมที่เชื่อมโยงระหว่างสนามบินกับเมือง, ส่งเสริมให้เกิดระบบขนส่งมวลชนที่ใช้พลังงานสะอาด และผลักดันให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชน รวมถึงสร้างจุดจอดรถส่วนตัวตามสถานีให้บริการระบบขนส่งมวลชนต่างๆ, ออกแบบปรับปรุงเส้นทางจักรยานและทางเดินให้มีคุณภาพ ปลูกต้นไม้ริมทางเพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกิดการเดินทางโดยไม่ใช้เครื่องยนต์, ส่งเสริมและกำหนดมาตรการช่วยเหลือภาคเกษตรกรในการทำเกษตรทางเลือก เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ การฟื้นฟูดิน
กำหนดมาตรการแนวทางการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นต้นเหตุของการเผา โดยบริษัทเอกชนผู้รับซื้อผลผลิตจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการตอซัง ซากพืชที่เหลือจากการเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นการแสดงความรับผิดขอบต่อสังคมโดยรวมด้วย, กระจายอำนาจการบริหารจัดการจากรัฐส่วนกลางสู่ท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองได้ในภาวะเร่งด่วน ครอบคลุมภาคการเกษตร อุตสาหกรรม ผลักดันภาษีสิ่งแวดล้อม องค์กร/หน่วยงาน/โรงงาน ที่สร้างมลภาวะที่เป็นพิษจะต้องเสียภาษีในอัตราที่มากขึ้น ควบคุมมาตรฐานของการก่อมลพิษ, ทบทวนการใช้ประโยชน์ที่ดินและการกำหนดเพิ่มพื้นที่โล่งว่าง (Open Space) ในผังเมือง พิจารณายกเลิกกฎหมายที่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเป็นพื้นที่เกษตร เช่น การทำสวนผลไม้
ลดบทบาทความเจริญของเชียงใหม่ลงจากที่เป็นเมืองโตเดี่ยว กระจายความเจริญไปยังพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง, ประสานความร่วมมือของประเทศเพื่อนบ้าน ให้เล็งเห็นความสำคัญของการร่วมกันแก้ไขปัญหา รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับนานาชาติ ศึกษาโมเดลของต่างประเทศ เช่น เมือง Stuttgart ประเทศ Germany ด้านการศึกษา airflow และวางแผนการใช้ที่ดิน, ยุทธศาสตร์การทำให้ท้องฟ้าเป็นสีฟ้าทุกวัน ที่เมืองปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และส่งเสริมการปลูกต้นไม้ในป่าให้เป็นไม้เศรษฐกิจแทนพืชเชิงเดี่ยว เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง สร้างพื้นที่ป่าในเมือง รณรงค์ให้มีการปลูกต้นไม้ในพื้นที่บ้าน ตามพื้นที่สาธารณะ นำนโยบาย Green city ของสิงคโปร์มาปรับใช้ ส่งเสริม GREEN BUILDING ให้มีการปลูกต้นไม้คลุมอาคารมากที่สุด เพื่อช่วยดูดซับมลพิษ มีแรงจูงใจด้านภาษีโรงเรือน