xs
xsm
sm
md
lg

“6 ชนเผ่าบรู” มอบตัว สภ.โขงเจียมแล้ว ยันอยู่ทำกินก่อนประกาศเขตอุทยานฯ ผาแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อุบลราชธานี - ชาวบ้านท่าล้ง หรือชนเผ่าบรู ตั้งบ้านเรือนริมแม่น้ำโขง ซึ่งถูกแจ้งความบุกรุกอุทยานแห่งชาติผาแต้ม เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน สภ.โขงเจียมแล้ว ยืนยันอยู่มาก่อนมีประกาศเป็นอุทยานเกือบร้อยปีก่อน ด้านพนักงานสอบสวนปล่อยตัวชั่วคราว
6 ชนเผ่าบรูเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน สภ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี
วันนี้ (12 มี.ค. ) ที่ สภ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ชาวบ้านท่าล้ง ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี จำนวน 6 ราย ประกอบด้วย นายใหล ศิริมาตร์ อายุ 62 ปี, นายเลต้า แก้วใส อายุ 43 ปี, น.ส.คำหนัง แก้วใส อายุ 53 ปี, นายนิกร พึ่งป่า อายุ 52 ปี, น.ส.คำปัน พึ่งป่า อายุ 50 ปี และ น.ส.คำศรี พึ่งป่า อายุ 47 ปี พร้อมเพื่อนบ้านกว่า 50 คน ได้เดินทางเข้ามามอบตัวต่อ ร.ต.อ.สัญญา พาเรือง รองสารวัตรสอบสวน สภ.โขงเจียม เจ้าของคดี

ทั้งนี้ เพื่อรับทราบข้อหาที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติผาแต้มได้เข้าแจ้งความจับกุมเมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา รวม 3 ข้อหา คือ 1. ก่อสร้างแผ้วถางหรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือครอบครองป่า โดยไม่ได้รับอนุญาต 2. ทำด้วยประการใดๆ เป็นการทำให้เกิดอันตรายเสื่อมสภาพแก่ดิน หิน กรวด หรือทราย โดยไม่ได้รับอนุญาต

และ 3. บุกรุกยึดถือครอบครองทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง แผ้วถาง หรือทำไม้ หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504


ร.ต.อ.สัญญา พาเรือง รองสารวัตรสอบสวน สภ.โขงเจียม ได้อธิบายขั้นตอนการเข้ารับทราบข้อหา รวมทั้งการพิมพ์ลายนิ้วมือแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 6 ราย พร้อมปล่อยตัวโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์มาประกันตัว เนื่องจากเข้ามาพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเอง แต่จะต้องมารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนทุก 15 วัน ก่อนจะส่งสำนวนให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้อง

การเข้ามอบตัวของชาวบ้านวันนี้ ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 6 ราย ได้แนบเอกสารการเดินสำรวจพิสูจน์ของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีพิพาทที่ดินทำกินของชาวบ้านกับอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ซึ่งนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้แต่งตั้งขึ้น และคณะทำงานที่ประกอบด้วยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานได้มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ชาวบ้านอยู่ก่อนประกาศเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้มเมื่อปี 2534 ให้พนักงานสอบสวนใช้ประกอบสำนวนการสอบสวนในการส่งฟ้องต่อพนักงานอัยการด้วย

ด้านนายอำนวย หาญปราบ ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวถึงการต่อสู้ของชาวบ้านที่ถูกอุทยานแห่งชาติผาแต้มแจ้งความดำเนินคดี เพราะแผนที่ในประกาศกฤษฎีกาแบ่งเขตในปี 2534 มีการผนวกเอาพื้นที่ 3 หมู่บ้าน ทั้งที่อยู่อาศัยและที่ทำกินที่มีปัญหากับอุทยานแห่งชาติผาแต้มขณะนี้เป็นเขตอุทยาน ทั้งที่ชาวบ้านอยู่อาศัยมาก่อนการประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติในปี 2516 ด้วย

จากการตรวจสอบยังพบว่า การลากเส้นแบ่งตามแผนที่ที่อุทยานแห่งชาติผาแต้มทำขึ้นในอดีต ยังล้ำเข้าไปถึงร่องน้ำลึกในแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นที่ตั้งของเกาะดอนกุ่ม ของประเทศเพื่อนบ้านเข้าเป็นของอุทยานแห่งชาติผาแต้มด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงข้อผิดพลาดในการจัดทำแนวเขตใช้ประกาศลงในกฤษฎีกาในครั้งนั้น โดยไม่ได้ให้ชาวบ้านเข้าร่วม แต่เป็นอุทยานแห่งชาติผาแต้มเป็นผู้จัดทำเองทั้งหมด จะต้องแก้ไขแผนที่ในประกาศกฤษฎีกาแบ่งเขตในปี 2534 เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ชาวบ้านที่ถูกแจ้งความดำเนินคดี 6 ราย และชาวบ้านที่จะต้องถูกแจ้งความดำเนินคดีเพิ่มเติมในอนาคต ถ้ายังใช้แผนที่ของอุทยานแห่งชาติฉบับนี้ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น